การแนะแนวอาชีพ(Vocational Guidance)
โดย นายรัศมี ปาสาโก ครุศาสตร์เกษตรฯ
1.ความหมายของการแนะแนวอาชีพ
“แฟรงค์ พาร์สันส์” (Frank Parsons)บิดาแห่งการแนะแนวอาชีพให้ความหมายว่า การแนะแนวอาชีพ (Vocational Guidance) เป็นกระบวนการสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนมีงานทำโดยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ โดยมุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจในโลกของอาชีพและการทำงาน ซึ่งจะทำให้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวอย่างยั่งยืนไป การแนะแนวอาชีพจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและสามารถตัดสินใจเลือกอาชีพได้ด้วยตนเอง อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ความถนัด ความเข้าใจ ค่านิยม ของสังคม ตลอดจน สภาวะทางเศรษฐกิจ
วัชรี ทรัพย์มี 2538, ให้ความหมายของการแนะแนวอาชีพว่า การแนะแนวอาชีพ หมายถึง กระบวนการช่วยเหลือบุคคลให้เข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมให้เขามีคุณภาพเหมาะสมตามลักษณะบุคลิกภาพของตน ค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน มีทักษะการดำเนินชีวิต รู้จัก ตัดสินใจในการเลือกอาชีพ แก้ปัญหาในช่วงวิกฤติ วางแผนการประกอบอาชีพ และสามารถปรับตัวได้อย่างมีความสุขในชีวิตได้พัฒนาตนเองให้ถึงขีดสุดในด้านอาชีพ
ดังนั้นการแนะแนวอาชีพจึงเป็นกระบวนการช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้บุคคลเข้าใจในโลกของอาชีพและการทำงาน สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับการแนะแนวรู้จักคิดและตัดสินใจในการทำงานตามความเหมาะสมของบุคลิกภาพแต่ละบุคคลและตามความถนัดของตนเอง
2.หลักการสำคัญของการแนะแนว
หลักการสำคัญของการแนะแนวอาชีพ การแนะแนวอาชีพมีหลักการว่า หากบุคคลใดได้ศึกษาหรือทำงานที่ตรงกับความถนัด ความ สนใจ และอุปนิสัยใจคอแล้ว เขาย่อมมีความสุขและ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการที่ต้องปฏิบัติงานในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด หรือไม่เหมาะสมกับอุปนิสัยของตน ดังนั้นในการแนะแนวอาชีพ จึงต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญดัง ดร.วิวรรธน์ ปาณะสิทธิพันธุ์ ได้กล่าวไว้ต่อไปนี้ คือ
1) การแนะแนวอาชีพ เป็นการพัฒนาคนให้มีความสามารถ และมีโอกาสใช้ ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ในการผลิตงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และทำให้บุคคลนั้นเกิดความสุขจากความสำเร็จในการทำงาน
2) การแนะแนวอาชีพ เป็นกระบวนการต่อเนื่องโดยมีขั้นตอนตั้งแต่การช่วยบุคคลให้ :-
2.1 รู้จักตนเองว่าตนมีความถนัด มีความสนใจ มีความสามารถ บุคลิกภาพเป็นเช่นไร จะได้เลือกงานได้ถูกต้อง
2.2 รู้จักข้อมูลทางอาชีพอย่างกว้างขวางและแจ่มแจ้งว่า อาชีพต่าง ๆ มีลักษณะอย่างไร ต้องการคนที่มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง และมีทัศนคติที่ดีต่อ สัมมาชีพ
2.3 รู้จักตัดสินใจเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตน โดยพิจารณาโอกาส ความเป็นไปได้ทั้งด้านคุณสมบัติของตนเองและความต้องการด้านกำลังคนใน อาชีพนั้น ๆ
2.4 ได้มีโอกาสศึกษา ฝึกฝน อบรม หรือได้สัมผัสอาชีพนั้น ๆ ตามความเหมาะสมกับวัย เพื่อให้เกิดทักษะ ความสามารถที่จะออกไปประกอบอาชีพได้ ทันที หรือในบางกรณี เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานและเพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการประกอบอาชีพของตนในอนาคต โดยมีการศึกษาฝึกฝนเพิ่มเติม
2.5 การแนะแนวอาชีพเป็นกระบวนการที่ต้องการความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย การจัดบริการแนะแนวอาชีพในสถานศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วม มือจากบุคคลทุกฝ่าย ในสถานศึกษานั้น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความร่วมมือของชุมชนในท้องถิ่นที่สถานศึกษาหรือหน่วยงานนั้นตั้งอยู่ จึงจะ ทำให้งานแนะแนวอาชีพเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลครอบคลุมในทุกด้าน
2.6 การแนะแนวอาชีพเป็นกระบวนการที่มุ่งให้บุคคลตัดสินใจด้วยตนเอง โดยยึดหลักในเรื่องของการให้บุคคลเป็นผู้กำหนดชีวิตของตน
2.7 มีงานทำหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งจะเป็นอาชีพอิสระหรืออาชีพรับจ้างแล้วแต่กรณี
2.8 ได้รับการดูแลและติดตามผล หลังจากที่จบการศึกษาออกไป ประกอบอาชีพแล้ว ว่าบุคคลนั้น ๆ มีความสามารถเหมาะสมกับงานเพียงใด สามารถ ปรับตัวให้เข้ากับงานได้หรือไม่ ได้ทำงานตรงตามความรู้ความสามารถหรือไม่ เพียงใด ควรมีการแก้ไขหรือปรับปรุงในด้านใดบ้าง ทั้งนี้ ควรมีโครงการต่อ เนื่องในการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ระหว่างปฏิบัติงาน (In Service Training) ด้วย
3.การวิเคราะห์บุคลิกภาพกับอาชีพ
ในการแนะแนวอาชีพแต่ละครั้งนักแนะแนวหรือครูแนะแนวควรมีการวิเคราะห์บุคลิกภาพส่วนบุคคลของผู้เข้ารับการแนะแนว เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับกลุ่มอาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของผู้เข้ารับการแนะแนว ดังกรมการจัดหางานได้แบ่งตามกลุ่มบุคลิกภาพ 6 กลุ่ม ดังนี้
3.1.อาชีพ บุคลิกภาพแบบจริงจังไม่คิดฝัน-นิยมความจริง
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ จะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลัง ชอบงานกลางแจ้ง กิจกรรมที่ไม่สลับซับซ้อน กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งของ เช่น เครื่องจักรกล ขาดทักษะในการสร้างสัมพันธระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องสังคมกับบุคคลอื่นชอบเป็นจุดสนใจของผู้อื่น ค่อนข้างก้าวร้าว มีลักษณะเป็นชาย มีค่านิยมทางเศรษฐกิจและในรูปแบบที่มีระเบียบแบบแผน ยึดถือประเพณีนิยม
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความอดทน มีความบากบั่น กล้าแสดงผลงาน ขาดทักษะในการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม
ค.การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำต่ำ มีทักษะในการสื่อสารต่ำ มีสุนทรีต่ำ
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ช่างเขียนแบบทั่วไป ช่างเชื่อมโลหะ
ช่างเทคนิคเครื่องกล ช่างเทคนิคอากาศยานและเครื่องยนต์ ช่างเทคนิคอิเล็กทรอนิกส์
ช่างเขียนแบบ (สถาปัตยกรรม) ช่างซ่อมและติดตั้งวางสายไฟฟ้า ช่างเทคนิคเครื่องยนต์
ช่างปรับอิเล็กทรอนิกส์ ช่างทันตกรรม ช่างแท่นพิมพ์ออฟเซ็ท
ช่างฟิต นักกายภาพบำบัด นักบิน
เจ้าหน้าที่จราจรทางอากาศ วิศวกรการบิน วิศวกรเครื่องกล(ทั่วไป)
วิศวกรโทรคมนาคม วิศวกรอุตสาหการ ช่างซ่อมตัวถังรถยนต์
ช่างสำรวจ นักเทคโนโลยีทางการศึกษา นักอาชญาวิทยา
ผู้ประกอบอาหาร
3.2.อาชีพ บุคลิกภาพแบบที่ต้องการใช้เชาว์ปัญญา
ก. ลักษณะโดยทั่วไป
ชอบคิด สังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ชอบแก้ปัญหา ชอบใฝ่หาความรู้มีหลักการ ชอบทำงานที่สลับซับซ้อนมากกว่าเป็นผู้ลงมือทำ ไม่ยึดติดประเพณีนิยม หลีกเลี่ยงการค้า การชักชวนเข้าสังคมและการเลียนแบบ
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความเห็นรุนแรง มีความบากบั่น อุทิศเวลาให้กับงาน เก็บตัวไม่ใคร่สนใจสังคม
ค.การประเมินตนเอง
มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบเอาอย่างใคร มีความร่าเริงต่ำ
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
จักษุแพทย์ จิตแพทย์ นักเคมี
นักชีววิทยา นักฟิสิกส์ นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์
นักวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม นักเศรษฐศาสตร์ ผู้จัดโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ทันตแพทย์ นักจิตวิทยา นักเทคนิคการแพทย์
นักวิเคราะห์การตลาด นักวิจัย นักสถิติ
ผู้บริหารระบบข่าวสาร แพทย์ทั่วไป เภสัชกร สัตวแพทย์ทั่วไป
3.3.อาชีพ บุคลิกภาพแบบมีศิลปะ
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
ชอบกิจกรรมเกี่ยวกับนามธรรม เป็นอิสระ รักความงาม มีความเป็นตัวของตัวเองสูงชอบใช้ชีวิตและกิจกรรมแบบตามลำพัง ไม่ค่อยควบคุมตัวเอง มักทำตามใจที่ปรารถนา มีความต้องการแสดงออกถึงลักษณะของตนเอง ชอบทางศิลปะ ไม่ชอบเลียนแบบ มีความคิดริเริ่ม หลีกเลี่ยงงานประเภทใช้ระเบียบแบบแผน
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีสุนทรีย์ มีศิลปะ ชอบคิดคำนึงชอบครุ่นคิดคนเดียว เก็บตัว
ค.การประเมินตนเอง
มีความอิสระสูง มีความเข้าใจตนเองสูง มีความสามารถในการควบคุมตนเอง มีความสามารถในการแสดงความรู้สึก
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
นักเขียนการ์ตูน นักประชาสัมพันธ์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์
นักออกแบบฉากละคร นักออกแบบแฟชั่น ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา
ผู้สื่อข่าว มัณฑนากร นักเขียนประกาศโฆษณา
นักหนังสือพิมพ์ นักออกแบบเครื่องเฟอร์นิเจอร์ นักออกแบบเครื่องประดับ
นักออกแบบเว็บไซต์ ผู้แปลภาษาต่างประเทศ สถาปนิก
ภูมิสถาปนิก
3.4.อาชีพ บุคลิกภาพแบบที่ชอบสมาคมสังคมกับบุคคลอื่น
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
ชอบติดต่อกับคน ชอบสนทนา ชอบให้ความรู้สอนผู้อื่น ชอบแสดงตัว ร่าเริง มีความรับผิดชอบ มีทักษะทางภาษา ต้องการความสนใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีลักษณะเป็นหญิง หลีกเลี่ยงการใช้ความคิดทางปัญญา มักแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความรู้สึก หลีกเลี่ยงงานที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ หรือทางวิทยาศาสตร์
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
ชอบสมาคม ร่าเริง ชอบเที่ยว รักษาประเพณี มีความรับผิดชอบ มีอำนาจ มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น มีลักษณะท่าทางเป็นหญิง
ค.การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำสูง มีทักษะในการพูด ชอบสมาคม
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ช่างเสริมสวย
นักแนะแนว ผู้จัดการโรงแรม พนักงานต้อนรับ
เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ นักจัดรายการวิทยุ นักสังคมสงเคราะห์
พยาบาล โภชนาการ
3.5.อาชีพ บุคลิกภาพแบบกล้าคิดกล้าทำ
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
จะมีลักษณะของความเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่ม มีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าโต้แย้ง กล้าได้กล้าเสีย พร้อมที่จะทดลอง มีความเป็นอิสระ มีความสนใจอำนาจ มีความก้าวร้าวทางวาจา มีทักษะในการเจรจา มักหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่ต้องใช้กำลังทางปัญญาอันยาวนาน ไม่ชอบกิจกรรมที่เป็นระเบียบแบบแผน
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
กล้าคิดกล้าทำ ชอบวางแผน ชอบสมาคม มีอำนาจเหนือผู้อื่น ร่าเริง สนุกสนาน ทำตามอารมณ์ ไม่ชอบใช้กำลังความคิดอันยาวนาน
ค.การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำ ชอบการสมาคม มีความก้าวร้าว มีความเข้าใจตนเอง
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
ทนายความ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล พนักงานขาย
มัคคุเทศก์ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย ผู้พิพากษา
พิธีกร พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
3.6.อาชีพ บุคลิกภาพที่ทำตามระเบียบแบบแผน
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
ชอบกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมและกิจกรรมทางภาษา ยึดประเพณี ชอบทำตามระเบียบแบบแผนมากกว่าการริเริ่มด้วยตนเอง เป็นพวกวัตถุนิยม และเจ้าระเบียบ ไม่ยืดหยุ่น ชอบการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ชอบเลียนแบบ เป็นผู้ตาม
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความรับผิดชอบ กล้าแสดงผลงาน ชอบพึ่งพาอาศัยผู้อื่น รักษาระเบียบ ประเพณี
ค.การประเมินตนเอง
มีจิตใจที่จะทำอะไรก็ทำจริง เคร่งครัดในระเบียบแบบแผน
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
ผู้นำเข้าหรือส่งออก เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ ผู้ตรวจสอบบัญชี
พนักงานพิมพ์ดีดคอมพิวเตอร์ เลขานุการ พนักงานบัญชี
ผู้ดูแลคลังสินค้า ผู้ประเมินทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
สมุห์บัญชี
4.ประโยชน์ของการแนะแนวอาชีพ
1. รู้จักเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับความสามารถของตน เช่น ความถนัด ความสามารถ ความสนใจ บุคลิกภาพ ความต้องการของตนเอง เป็นต้น
2. ให้รู้จักโลกของงานอาชีพ เช่น อาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชนนั้น ๆ ลักษณะงานของอาชีพ คุณสมบัติของบุคคลที่จะประกอบอาชีพ หรืองานย่อยในอาชีพ ต่าง ๆ ความก้าวหน้า รายได้ ความมั่นคง การฝึกอบรมที่จะเข้าสู่อาชีพต่าง ๆ
3. ให้รู้จักเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพ เช่น การเข้ารับการอบรมในอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในอาชีพนั้น ๆ เช่น การซ่อมคอมพิวเตอร์ การแสวงหางาน การสมัครงาน การเข้ารับการสัมภาษณ์ เป็นต้น
สรุป ดังนั้นการแนะแนวอาชีพจึงเป็นกระบวนการช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้บุคคลเข้าใจในโลกของอาชีพและการทำงาน สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับการแนะแนวรู้จักคิดและตัดสินใจในการทำงานตามความเหมาะสมของบุคลิกภาพแต่ละบุคคลและตามความถนัดของตนเอง โดยยึดหลักในการแนะแนวอาชีพดังนี้ คือ
1.การวิเคราะห์บุคคล นักแนะแนวจะช่วยผู้มารับบริการวิเคราะห์คุณสมบัติต่างๆ เช่น ความสามารถ ความสนใจ ความถนัด บุคลิกภาพ
2.การวิเคราะห์อาชีพ นักแนะแนวจะช่วยให้ผู้รับบริการมีความรู้เกี่ยวกับอาชีพ เช่น มีความรู้เกี่ยวกับลักษณะอาชีพ ความต้องการของตลาดเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ เวลาและทุนทรัพย์ที่ใช้ในการเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพ
3.การใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกอาชีพ นักแนะแนวช่วยให้ผู้รับบริการตัดสินใจเลือกอาชีพ โดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ตนเองและวิเคราะห์อาชีพประกอบกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น