วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การพัฒนาจิตเพื่อการศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ

การพัฒนาจิตเพื่อการศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ
การศึกษาวิชาการทางโลก มักจะมุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางวิชาการ(ทางโลก)ในความจำ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ๔ และอื่น ๆ เพื่อดับความทุกข์ทางร่างกายเป็นหลัก
การศึกษาวิชาการทางธรรม มุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้พ้นทุกข์ทางจิตใจเป็นหลักและไม่เบียดเบียนผู้อื่น คล้ายกับวิชาจิตวิทยาในการดับความทุกข์ และวิชาพัฒนาจิตใจให้ประเสริฐ
การศึกษาวิชาการทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันไปด้วย จะทำให้นิสิตมีประสบการณ์ มีความชำนาญ จนสามารถศึกษา ปฏิบัติงาน และดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป ซึ่งเป็นชีวิตที่ประเสริฐของนิสิต
เนื่องจากการศึกษาในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักจะมุ่งตรงไปที่การพัฒนาข้อมูลสติปัญญาทางโลกในความจำ. ดังนั้น การดูแลตนเองทางด้านจิตใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นิสิตทุกคนควรได้รับความรู้และฝึกฝนตนเองอยู่ตลอดเวลาที่เป็นนิสิต เพื่อที่จะได้สามารถดูแลตนเองให้มีการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ ครั้นเมื่อจบการศึกษาแล้ว นิสิตก็จะได้สามารถดูแลตนเองทั้งทางโลกและทางธรรมได้เป็นอย่างดี ทำให้ประสบความสำเร็จของชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อม ๆ กัน. การประสบคำสำเร็จทางธรรม คือ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องตามหลักธรรม จึงทำให้มีจิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส และไม่มีความทุกข์ทางจิตใจที่รุนแรง.
ประโยชน์ของการพัฒนาจิต
การพัฒนาจิตตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นวิชาการทางด้านจิต(จิตใจ)ที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ทุกคนสามารถพิสูจน์ได้โดยง่าย ไม่เกี่ยวข้องกับความหลงเชื่อ. เมื่อนิสิตได้ศึกษาและทดลองฝึกปฏิบัติดู จะได้รับผล ภายในวินาทีที่ลงมือฝึกปฏิบัติ คือ จะมีความเบาสบาย สงบ ไม่มีความทุกข์ภายในจิตใจ และจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะเป็นเรื่องของการใช้สติปัญญาของตนเอง ความทุกข์ทางจิตใจของนิสิตที่น่าจะพบได้บ่อยเมื่อเกิด "ความเกินความพอเหมาะพอควร(นอกทางสายกลาง)" ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด ความเหนื่อยอ่อน การพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัญหาสุขภาพ การเจ็บป่วย การเดินทาง ค่าใช้จ่าย ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความรัก ความหลงเชื่อ ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ความโกรธ ความไม่เท่าเทียม ความเซง ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความพ่ายแพ้ ความไม่สมหวัง ความเสียใจ ความไม่สบายใจที่เกินความพอเหมาะพอควร เป็นต้น. ความทุกข์ทางจิตใจที่เกิดจากความเกินพอดีในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว สามารถป้องกันและดับได้โดยง่าย ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน.
ในชีวิตประจำวัน การมีสติในการใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรม จึงมีประโยชน์อย่างมากมายต่อนิสิต ทั้งด้านการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ :-
ประโยชน์ด้านการศึกษา
การฝึกพัฒนาจิตใจของตนเองในด้านสติ ด้วยการศึกษาเรื่องสติและฝึกเจริญสติเป็นประจำ จะทำให้นิสิตมีสติตั้งมั่น(มีความตั้งใจแน่วแน่)ในการฟังคำบรรยาย ไม่เผลอสติ ไม่คิดฟุ้งซ่าน ไม่คิดและทำกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จึงทำให้มีการคิด พิจารณา ทำความเข้าใจ จดจำ และบันทึกเนื้อหาที่สำคัญของคำบรรยายไว้ได้เป็นอย่างดี เป็นเหตุให้ผลของการศึกษาดีขึ้น ตามกำลังความสามารถของข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำขณะนั้น ถ้าไม่มีสติในการฟัง หรือมีสติน้อย ความคิดฟุ้งซ่านก็มักจะมากขึ้น อาจมีการใช้เวลาไปคิดและทำเรื่องอื่นบ่อยขึ้น ทำให้ความสามารถของสมองในการคิดและการจดจำลดลง และผลการเรียนก็จะต่ำลงด้วย
การฝึกฝนตนเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาในการฟังคำบรรยาย จะทำให้สมองของนิสิตมีข้อมูลด้านสติมากขึ้น พอนานเข้า สติในการฟังคำบรรยายก็จะมีมากขึ้น ความฟุ้งซ่านก็จะลดลง เป็นผลให้เกิดการพัฒนาความสามารถของการมีสติในการศึกษาดีขึ้นตามลำดับ และผลของการศึกษาก็จะดีขึ้นด้วย เมื่อนิสิตมีสติมากขึ้น มีข้อมูลสติปัญญาทางวิชาการมากขึ้น การศึกษาในเวลาต่อมาจะง่ายขึ้นเพราะมีข้อมูลในความจำมาใช้ประกอบการทำความเข้าใจได้มากขึ้น เป็นผลให้ความทุกข์ต่าง ๆ ในเรื่องของการศึกษาและเรื่องที่เกี่ยวข้องลดลง
การพัฒนาจิตโดยการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมอย่างง่าย ๆ และมีคุณค่าไว้ในความจำ พร้อมทั้งมีสติในการใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินชีวิต จะทำให้นิสิตมีสติในการรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าอะไรควรคิดและควรทำ รู้ว่าอะไรไม่ควรคิดและไม่ควรทำ. ถ้านิสิตมีสติในการไม่คิดชั่ว(ไม่คิดอกุศล)และไม่ทำชั่ว คงมุ่งแต่การคิดดี(คิดแต่กุศล)และทำแต่ความดี จะเป็นผลให้นิสิตมุ่งหน้าไปในด้านของการศึกษาตามหน้าที่ความรับผิดชอบ แทนที่จะเสียเวลาไปกับการคิดฟุ้งซ่าน การคิดและทำกิจที่เป็นอกุศล ซึ่งเป็นผลร้ายต่อการศึกษาโดยตรง.
ประโยชน์ด้านการดำเนินชีวิต
การพัฒนาจิตใจของตนเอง ด้วยการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะเป็นผลดีต่อจิตใจดังต่อไปนี้ :-
๑. ส่งเสริมสุขภาพจิตให้มีความเข้มแข็ง และอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในขณะดำเนินชีวิต รวมทั้งในยามเจ็บป่วย โดยไม่มีความทุกข์ทางจิตใจ เช่นเดียวกันกับการมีสุขภาพกายที่ดี ทำให้สามารถต่อสู้กับภาระกิจทางกาย และความเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี.
๒. ป้องกันความทุกข์ทางจิตใจได้ทุกขณะ เพราะเมื่อสมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ สมองก็จะทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจคล้ายอัตโนมัติ ถ้ามีการศึกษาและฝึกฝนจนชำนาญ เช่นเดียวกันกับการที่สมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งสมองก็จะทำหน้าที่ได้เองคล้ายอัตโนมัติ ถ้าได้ศึกษาและฝึกซ้อมมาก่อน.
๓. รักษาความทุกข์ทางจิตใจได้ทุกขณะ เพราะเมื่อสมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ สมองก็จะสามารถทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อการรักษาความทุกข์ทางจิตใจที่กำลังมีอยู่ได้ทุกขณะที่ต้องการ เช่นเดียวกันกับการที่สมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและใช้ข้อมูลดังกล่าวในการรักษาความทุกข์ทางกายที่เกิดขึ้นเมื่อต้องการรักษา ซึ่งเป็นการพึ่งพาข้อมูลสติปัญญาของตนเอง.
๔. ฟื้นฟูจิตใจภายหลังการเจ็บป่วยและหลังจากมีความทุกข์ เพราะเมื่อสมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ สมองก็จะทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อทำการฟื้นฟูจิตใจได้อย่างรวดเร็วตามเจตนาของเจ้าของ.
สมองทำงานตามที่นิสิตมีเจตนา
ในการทำกิจต่าง ๆ จะสังเกตว่า สมองจะทำหน้าที่ในการคิดและในการทำกิจต่าง ๆ ตามที่มีเจตนา เช่น เมื่อเกิดมีเจตนาว่า จะเดินไปที่ใดที่หนึ่ง สมองก็จะทำหน้าที่ในการควบคุมให้มีการเดินไปยังที่นั้น ซึ่งเป็นการแสดงว่า สมองจะตอบสนองต่อความคิดที่เป็นเจตนาเสมอ. ความเจตนาจึงมีอิทธิพลมาก เช่น บางคนคิดฆ่าตัวตาย ต่อมามีเจตนาฆ่าตัวตาย ร่างกายก็ยังต้องตอบสนองความเจตนานั้นได้.
เมื่อรู้ชัดว่า สมองทำงานเช่นนี้เอง จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะฝึกควบคุมความคิดและการกระทำต่าง ๆ โดยการการตั้งเจตนา ตั้งใจ(มีสติ) และมีความเพียรฝึกปฏิบัติตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้.
ในขณะฝึกใหม่ ๆ สมองยังทำงานใหม่ได้ไม่คล่องแคล่ว และทำไม่ได้ต่อเนื่องนัก จึงมักจะให้มีการเผลอสติบ้าง คิดฟุ้งซ่านบ้าง คิดและทำเรื่องอื่น ๆ บ้าง. แต่เมื่อมีความเพียรในการฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ไม่นานนัก ก็จะเกิดความชำนาญ นั่นคือสมองทำหน้าที่ได้ดี สามารถทำตามเจตนาได้นาน และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
การพัฒนาจิตเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว
พัฒนาจิตมีเนื้อหาน้อยมาก ใช้เวลาศึกษาเพียงนิดเดียวก็สามารถเข้าใจเนื้อหาได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกฝนเป็นพิเศษ ไม่ต้องการสถานที่ ไม่ต้องกลัวเสียสติ และนิสิตทุกคนสามารถฝึกฝนตนเองในชีวิตประจำวันได้โดยง่าย ขอเพียงให้ดำเนินการตามแนวทางง่าย ๆ ดังนี้ :-
ในด้านการศึกษา
๑. มีเจตนาว่า จะฝึกมีสติ(มีความตั้งใจ)ในการศึกษาอย่างจริงจัง เช่น ขณะฟังคำบรรยาย และขณะทำกิจกรรมการศึกษาต่าง ๆ จะไม่เผลอสติ ไม่ไปคิดฟุ้งซ่าน ไม่คิดและไม่ทำเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา.
๒. มีความเพียรในการฝึกฝนตนเองในการมีสติรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้อยู่กับเรื่องการศึกษาตลอดเวลา.
เมื่อนิสิตตั้งใจลงมือฝึกปฏิบัติตามเจตนาที่ได้กล่าวแล้วเป็นประจำด้วยความเพียร ก็จะทำให้เกิดความชำนาญมากขึ้น จนสามารถรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้อยู่กับกิจที่นิสิตเจตนากระทำอยู่ได้คล้ายอัตโนมัติ.
ในด้านการดำเนินชีวิต
นิสิตควรฝึกตั้งเจตนาว่า "เราจะไม่คิดอกุศลและไม่ทำอกุศล แต่จะคิดกุศลและทำกุศลโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ด้วยความโลภ และรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ" พร้อมทั้งมีสติคอยรู้เห็นว่า ความคิดและการกระทำต่าง ๆ เป็นไปตามเจตนาหรือไม่ ถ้าเมื่อใดรู้เห็นว่า ไม่เป็นไปตามเจตนาที่ตั้งเอาไว้ ก็ให้มีสติหยุดความคิดและการกระทำนั้น ๆ ทันที เป็นผลให้จิตใจและการกระทำต่าง ๆ กลับมามีความบริสุทธิ์ทันที. เจตนาหรือหลักธรรมดังกล่าว เป็นสรุปหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์.
หลักการสำคัญในการพัฒนาจิตนั้นง่ายนิดเดียว
หลักการสำคัญในการพัฒนาจิตนั้นง่ายนิดเดียว คือ จะต้องศึกษาธรรมสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ตรงประเด็น และต้องฝึกปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความชำนาญในการรู้เห็นและควบคุมความคิด ให้เป็นไปตามหลักธรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีองค์ประกอบโดยย่อ ดังนี้ :-
๑. มีสติปัญญาเห็นชอบว่า การพัฒนาจิตมีประโยชน์โดยตรงต่อการศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ. การเห็นชอบเช่นนี้ จะทำให้เกิดศรัทธาที่จะศึกษาธรรมและฝึกปฏิบัติธรรม เพื่อการพัฒนาจิตใจของตนเองอย่างจริงจัง.
๒. มีสติจดจำหลักธรรมง่าย ๆ และทบทวนบ่อย ๆ ว่า "เราจะไม่คิดอกุศลและไม่ทำอกุศล แต่จะคิดกุศลและทำกุศลโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ด้วยความโลภ และรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ". หลักธรรมดังกล่าวไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์ ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพก็นำไปใช้ได้หมด.
๓. มีความเพียรที่จะมีสติ(ตั้งใจ)ในการรู้เห็นความคิดและการกระทำต่าง ๆ. ทันทีที่รู้เห็นความคิดหรือการกระทำต่าง ๆ ไม่เป็นตามหลักธรรม(ในข้อ ๒) ก็ให้หยุความคิดและการกระทำนั้น ๆ ทันที. เมื่อฝึกทำเช่นนี้เป็นประจำ อีกไม่นานนัก สมองก็จะทำหน้าที่ได้เองคล้ายอัตโนมัติ.
หลักการตามข้อที่ ๑ คือการสร้างศรัทธาและเจตนาที่ถูกต้อง หลักการตามข้อที่ ๒ คือจดจำข้อมูลหลักธรรม หลักการตามข้อที่ ๓ คือ มีสติและมีความเพียรในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม.
วิธีการในการพัฒนาจิตนั้นง่ายนิดเดียว
การพัฒนาจิตอย่างถูกวิธีเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว ไม่ต้องมีพิธีการ ไม่ต้องมีขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ขอแต่เพียงให้นิสิตเห็นคุณค่า(มีศรัทธา)อย่างจริงใจ แล้วมีความเจตนา ความตั้งใจ และมีความเพียรอย่างจริงจังที่จะทำให้เกิดผลตามที่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ ในทันที่ที่ลงมือปฏิบัติ.
วิธีฝึกพัฒนาจิตในด้านการศึกษาทำได้โดยง่าย กล่าวคือ ในขณะฟังคำบรรยายหรือฝึกปฏิบัติงานอยู่นั้น ให้นิสิตฝึกตั้งเจตนาและทบทวนเจตนาว่า จะฝึกมีความตั้งใจ และฝึกมีความเพียรที่จะมีสติอย่างต่อเนื่องในการรู้เห็นและควบคุมความคิด ให้มีการคิดและพิจารณาเนื้อหาของบทเรียนด้วยความตั้งใจ ไม่เผลอสติ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดและทำเรื่องอื่นใด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา. เมื่อฝึกไปนานเข้า นิสิตก็จะมีความชำนาญมากขึ้น จนสมองสามารถทำได้เองคล้ายอัตโนมัติ.
วิธีฝึกพัฒนาจิตในด้านการดำเนินชีวิต คือ ในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ฝึกตั้งเจตนาว่า จะมีความตั้งใจ และมีความเพียรที่จะมีสติอย่างต่อเนื่องในการควบคุมความคิดและการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรมง่าย ๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว. ในทันทีที่นิสิตรู้เห็นว่า ความคิดหรือการกระทำต่าง ๆ ที่ไม่ตรงตามหลักธรรม ก็ให้หยุดความคิดและการกระทำนั้น ๆ ทันที ขณะเดียวกัน อย่างปล่อยให้มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นบ่อยหรือนาน เพราะอาจเกิดความคิดฟุ้งซ่านที่เป็นอกุศลและทำอกุศลได้โดยไม่รู้ตัว เพราะขณะเผลอสติไปคิดอยู่นั้น มักจะไม่สามารถควบคุมความคิดให้เป็นไปตามเจตนาที่ตั้งไว้ได้.
ความคิดเป็นหัวหน้าของการกระทำต่าง ๆ
ตามธรรมชาติ ความคิดจะเป็นหัวหน้าของการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ เช่น เมื่อใดคิดดีการ กระทำทางกาย วาจา ใจ ย่อมดีไปด้วย และความสุขสงบก็จะติดตามมา. เมื่อใดคิดชั่วการกระทำทางกาย วาจา ใจ ย่อมชั่วไปด้วย และความทุกข์ก็จะติดตามมา ซึ่งตรงกับคำที่ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว การกระทำต่าง ๆ จะดีหรือชั่วนั้น เกิดจากใจ(ความคิด คือ องค์ประกอบของใจที่เป็นหัวหน้าของการกระทำต่าง ๆ ).
การมีเจตนาใช้เวลาในการศึกษาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการคิดเสียก่อน. ความคิดจึงมีอำนาจสูงสุดต่อการกระทำต่าง ๆ โดยตรง แม้กระทั่งการคิดฆ่าและมีเจตนาสั่งฆ่าผู้ที่มีความคิดเห็นต่างลัทธิกับตนเป็นจำนวนแสนหรือเป็นล้านคนก็ยังสามารถทำได้.
เมื่อมีเจตนารู้เห็นความคิดก็จะสามารถรู้เห็นความคิด
ในชีวิตประจำวัน นิสิตอาจจะไม่ได้สังเกตว่า การกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจนั้น เกิดจากความคิด เพราะไม่ได้มีเจตนารู้เห็นความคิดมาก่อน. ถ้าเป็นการคิดเรื่องที่ทำอยู่เป็นประจำและง่าย ๆ ความคิดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคล้ายอัตโนมัติ เนื่องจากสมองทำงานด้วยความชำนาญ เช่น การทำกิจวัตรประจำวันได้แก่ การเดิน การเข้าห้องน้ำ การรับประทานอาหาร เป็นต้น.
ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดและไม่เคยทำมาก่อน หรือเป็นเรื่องยาก สมองจะต้องใช้เวลาในการคิด เช่น การแก้เครื่องใช้ต่าง การเดินทางไปในที่ที่ยังไม่เคยไป การทำงานเรื่องยาก ๆ เป็นต้น.
วิธีการที่จะรู้เห็นความคิดนั้นง่ายนิดเดียว เพียงแต่ตั้งเจตนาว่า จะรู้เห็นความคิด พร้อมกับตั้งใจรู้เห็นความคิดอย่างจริงจังในขณะคิด ก็จะรู้เห็นความคิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะสมองทำหน้าที่ตามที่มีเจตนา. การระลึกว่า เมื่อกี้คิดอะไร ก็จะรู้เห็นความคิดที่สมองได้จดจำเอาไว้ ซึ่งเป็นวิธีการง่าย ๆ สำหรับการศึกษาเรื่องการรู้เห็นความคิดที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นได้ด้วย.
การรู้เห็นความคิดจึงจะทำให้สามารถกำกับและควบคุมความคิดได้
การที่จะควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามหลักธรรม ได้นั้น ก็ต่อเมื่อสามารถรู้เห็นความคิด เพราะความคิดเป็นที่เริ่มต้นของการกระทำต่าง ๆ. ดังนั้น เมื่อรู้เห็นและรู้ทันความคิดนั้น ๆ ว่า กำลังมีการคิดอกุศล ก็ให้หยุดความคิดนั้น ๆ เสียทันที เช่น มีเจตนาอย่างจริงจังว่า จะไม่คิดโดดร่มเพราะเป็นอกุศล ครั้นเมื่อมีการคิดว่า จะโดดร่มชั่วโมงนั้นหรือชั่วโมงนี้ ก็จะรู้เห็นและรู้ทันความคิดนั้นได้ในขณะที่มีสติ พร้อมทั้งมีสติหยุดความคิดนั้น ๆ ทันที การโดดร่มก็จะไม่เกิดขึ้น.
ถ้าไม่สามารถรู้เห็นและรู้ทันความคิด ก็จะไม่สามารถกำกับและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมได้.
ดังนั้น การจะพัฒนาจิตใจ จึงเน้นที่การมีสติในการใช้ข้อมูลหลักธรรมที่มีอยู่ในความจำ ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิด ให้คิดตามหลักธรรมอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน และเมื่อใดที่ความคิดเป็นอกุศล ซึ่งไม่ตรงกับหลักธรรม ก็ให้มีสติหยุดความคิดนั้น ๆ เสีย ภายในวินาทีนั้นเลย เพื่อความไม่ประมาท.
การกำกับและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมเป็นประจำ จะทำให้ข้อมูลสติปัญญาทางธรรมในความจำมีมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นนิสัย. ขณะเดียวกัน เมื่อมีการคิดและการกระทำต่าง ๆ เป็นไปตามหลักธรรมอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลความจำด้านอกุศล(กิเลส)ที่จดจำไว้จะค่อยลดลงไป เพราะข้อมูลด้านอกุศลในความจำที่ไม่ได้ใช้งาน หรือไม่ได้ทบทวนอยู่เสมอย่อมจะลดลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากธรรมชาติของสมองเป็นเช่นนั้นเอง. ยิ่งมีข้อมูลด้านอกุศลในความจำลดน้อยลง โอกาสที่จะคิดด้วยข้อมูลด้านอกุศลย่อมลดน้อยลงไปด้วย.
เมื่อไม่คิดอกุศล จิตใจย่อมบริสุทธิ์ผ่องใส
ตามธรรมชาติ ขณะที่สมองของนิสิตไม่ได้คิดด้วยข้อมูลด้านอกุศลอยู่นั้น จิตใจของนิสิตย่อมบริสุทธิ์ผ่องใส พร้อมทั้งมีความเบาสบาย(ปีติ) และมีความสุขสงบ(ปัสสัทธิ)จากการไม่มีความทุกข์.
การไม่คิดและไม่ทำอกุศล แต่คิดและทำกุศลให้ถึงพร้อมโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ด้วยความโลภ ย่อมทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งเป็นความจริงที่นิสิตสามารถพิสูจน์ได้ทุกเมื่อ.
ในขณะที่ร่างกายไม่ได้เจ็บป่วย แต่จิตใจของกลับมีอาการขุ่นมัวหรือไม่บริสุทธิ์ผ่องใส มักจะมีสาเหตุที่สืบเนื่องมาจากขณะนั้นกำลังมีความคิดที่เจือปนด้วยข้อมูลด้านอกุศลนั่นเอง.
ความอยากและความไม่อยากที่มีความพอดีไม่ทำให้เกิดความทุกข์
ตามธรรมชาติของมนุษย์ จะต้องมีความรู้สึกอยากและไม่อยากติดตัวมาตั้งแต่เกิด. ความอยากและไม่อยากจะผลักดันให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ได้ยาวนานและปลอดภัย เช่น การอยากรับประทานอาหาร การอยากพักผ่อน การอยากมีชีวิตอยู่ การอยากมีความปลอดภัย การอยากช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ การไม่อยากอดอยาก การไม่อยากเหนื่อย การไม่อยากเจ็บป่วย การไม่อยากตายก่อนกำหนดเวลา การไม่อยากได้รับอันตราย เป็นต้น.
ความอยากและความไม่อยากที่พอเหมาะและพอควรจึงเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามธรรมชาติของมนุษย์. ดังนั้น ความอยากและไม่อยากย่อมทำให้มีความทุกข์ทางจิตใจบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นวิสัยที่มนุษย์ควรมี และไม่จำเป็นต้องใช้หลักธรรมในการดับความทุกข์ประเภทนี้ เช่นเดียวกับความทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ทางร่างกายในชีวิตประจำวันของคนปกติ ที่เกิดขึ้นขณะหิวอาหาร ขณะปวดปัสสาวะ ขณะปวดอุจจาระนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องบำบัดรักษาแต่ประการใด ถ้าไม่ก่อปัญหารุนแรง.
ความต้องการมากเกินพอดี ที่จะให้เป็นไปตามที่ตัวอยากและไม่อยากจนเกินความพอเหมาะพอดี เรียกว่า ตัณหา เมื่อเกิดความคิดที่เป็นตัณหา(คิดอกุศล)ความทุกข์ที่มากกว่าระดับปกติก็จะเกิดตามมาด้วย. การจะดับทุกข์ได้นั้น ต้องดับที่หัวหน้า คือดับหรือหยุดความคิดที่เป็นอกุศลเสีย ตัณหาก็จะดับไปทันที.
การฝึกเจริญสมาธิเพื่อหยุดความคิด
วัตถุประสงค์ของการฝึกเจริญสมาธิ คือ การฝึกสติอย่างเข้มข้น เพื่อหยุดความคิดทุกรูปแบบ การฝึกหยุดความคิดทุกแบบ โดยการมีสติอยู่กับกิจเล็ก ๆ เพียงกิจเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกกำกับและควบคุมความคิด.
ขณะที่มีสมาธิตั้งมั่นอยู่กับกิจที่กำหนดไว้ เช่น อยู่กับลมหายใจ จะทำให้หยุดการคิดหรือไม่ไปคิดเรื่องอื่น และไม่เผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน. ความคิดฟุ้งซ่านอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการคิดด้วยข้อมูลด้านอกุศลได้โดยง่าย เนื่องจากขณะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น จะไม่สามารถรู้เห็นและควบคุมความคิดได้.
ให้นิสิตฝึกทดลองเจริญสมาธิตามรูปแบบที่เคยฝึกปฏิบัติมาก่อน เมื่อสมาธิมีความตั้งมั่นตามสมควร คือ ขณะที่มีสติอยู่กับกิจเล็ก ๆ ที่มีเจตนากระทำอยู่ ก็จะไม่คิดเรื่องอื่นใด รวมทั้งไม่ได้คิดฟุ้งซ่านด้วย. ภาวะที่จิตใจมีความตั้งมั่นดังกล่าวแล้ว เป็นภาวะที่นิสิตไม่มีการคิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง และไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นภาวะของจิตใจที่มีความบริสุทธิผ่องใส ห่างไกลจากกิเลสและกองทุกข์ หรือมีภาวะนิพพานชั่วคราว.
ต่อไปให้นิสิตทดลองลืมตาเจริญสมาธิ จะสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่า ให้ผลเช่นเดียวกันกับการหลับตาทำสมาธิ เพียงแต่ว่า อาจรู้สึกสงบน้อยกว่าการหลับตาเจริญสมาธิ และมีโอกาสที่จะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านได้ง่ายขึ้น.
การเจริญสมาธิอย่างถูกต้องตามหลักการในพระพุทธศาสนา คือการฝึกมีสติในการกำกับและควบคุมความคิดอย่างจริงจังถึงขั้นหยุดความคิด เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนเป็นอย่างดีเยี่ยมและอย่างมีสติในขณะที่ไม่ได้นอนหลับ. ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกสมาธิจนมีความชำนาญคือ จะสามารถหยุดความคิดต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกับหลักธรรมได้ในทันทีที่ต้องการ.
หลักการและวิธีฝึกเจริญสมาธิอย่างง่าย ๆ
นิสิตควรเลือกที่นั่งให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับการฝึกเจริญสมาธิ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายจากการเผลอสติหรือหลับในแล้วพลัดตกลงมา. นิสิตควรฝึกนั่งตัวตรง ดำรงจิตมั่น ไม่เผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน แต่ไม่ควรเร่งสติหรือตั้งใจมากเกินไป จนเกิดความเครียดหรือมีอาการเกร็งไปหมด.
นิสิตควรฝึกตั้งใจมั่น(มีสติ)ในระดับพอเหมาะพอดี(ทางสายกลาง) โดยสังเกตว่า ขณะฝึกปฏิบัติจะต้องมีความรู้สึกเบาสบาย กล้ามเนื้อทั้งตัวมีความผ่อนคลาย มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะปล่อยวางทุกเรื่องให้หมด คงเหลือแต่เพียงการรับรู้ความรู้สึกเบา ๆ ของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเพียงกิจเดียวเท่านั้น.
เพื่อที่นิสิตจะได้ฝึกเจริญสมาธิในชีวิตประจำวันได้ทุกเมื่อ จึงควรฝึกเจริญสมาธิในท่าที่ท่านเคยนั่งตามปกติ โดยไม่ต้องรอโอกาสที่จะนั่งขัดสมาธิกับพื้นตามรูปแบบที่นิยมกันในอดีตเสียก่อน แล้วจึงค่อยฝึกเจริญสมาธิ. ในกรณีย์ที่มีความพร้อมที่จะนั่งขัดสมาธิบนพื้นตามรูปแบบเดิม ก็สามารถทำได้ตามอัทธยาศัย.
การฝึกเจริญสมาธิในท่านอนก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องระวัง เพราะอาจจะเผลอสติหรือนอนหลับไปได้โดยง่าย. นิสิตควรฝึกในท่านอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ตามความเหมาะสมกับเหตุปัจจัย. การฝึกเจริญสมาธิในท่านอนตะแคง จัดว่าเป็นท่าที่เป็นทางสายกลางของอิริยาบถนอน คือ จะไม่หลับง่ายเหมือนท่านอนหงาย และไม่ลำบากร่างกายเหมือนในท่านอนคว่ำ. การเจริญสมาธิในอิริยาบถนอนจะช่วยให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนดีที่สุด จึงเหมาะสำหรับใช้ในการปรับเปลี่ยนอิริยาบถเป็นครั้งคราว.
การฝึกปฏิบัติธรรมในท่ายืน ในท่าเดิน และในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ใช่การฝึกเจริญสมาธิ ในที่นี้จัดว่าเป็นการฝึกเจริญสติ เพราะต้องแบ่งสติไปใช้หลายด้าน เพื่อให้มีความปลอดภัย เช่น ใช้ในการรับรู้ข้อมูลการทรงตัว การเดิน การคิด เป็นต้น.
การเจริญสมาธิทำให้เกิดการหยุดความคิด จึงเป็นผลให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนอย่างมีสติในขณะที่ไม่ได้นอนหลับ รวมทั้งไม่มีความทุกข์ ซึ่งเป็นภาวะของจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส.
หลักการสำคัญของการเจริญสมาธิ คือ ให้ฝึกมีสติในการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกซึ่งเป็นกิจเล็ก ๆ และง่าย ๆ เพียงกิจเดียว โดยไม่มีการใช้สมองไปในการนึกคิดเรื่องอื่นใด ถ้าเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน หรือมีความคิดหรือมโนภาพแทรกขึ้นมาก็ให้หยุดเสีย โดยการลืมตาชั่วคราวแล้วเจริญสมาธิต่อไป หรือเร่งสติมากขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ได้ ความคิดหรือมโนภาพก็จะถูกตัดตอน.
วิธีฝึกเจริญสมาธิตามรูปแบบอานาปานสติสมาธิ เป็นการฝึกมีสติในการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเพียงกิจเดียว กล่าวคือ พอลมหายใจผ่านเข้าตรงรูจมูก ก็มีสติรับรู้ความรู้สึกว่า ลมหายใจกำลังผ่านเข้า พอลมหายใจผ่านออกตรงรูจมูก ก็มีสติรับรู้ความรู้สึกว่า ลมหายใจกำลังผ่านออก.
บางท่านที่ไม่เคยฝึกอานาปานสติสมาธิมาก่อน อาจจะรู้สึกว่า การรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเป็นของยาก แต่ขอยืนยันว่า เมื่อตั้งใจฝึกฝนตนเองได้ไม่นานนัก ก็จะกลับกลายเป็นเรื่องง่ายมาก ๆ เหมือนกับการรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสต่าง ๆ นั่นเอง เพียงแต่เป็นความรู้สึกสัมผัสที่เบา ๆ ว่า มีลมหายใจผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเท่านั้นเอง.
เมื่อนิสิตฝึกได้สักระยะเวลาหนึ่ง ก็จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า การรับรู้ความรู้สึกสัมผัสที่เบา ๆ กลับกลายเป็นของดี เพราะมีความละเอียดอ่อน มีความสงบทั้งใจและกาย มีความประณีต มีความเบาสบาย(ปีติ) มีความสุขสงบ(ปัสสัทธิ) ไม่เครียด ไม่ต้องใช้ตาเพ่ง ไม่ต้องใช้ใจเพ่ง ไม่เหนื่อยกาย ไม่เหนื่อยใจ ไม่ต้องใช้สมองมาก ร่างกายและสมองได้พักผ่อนอย่างมีสติในขณะที่ไม่ได้นอนหลับได้ดีที่สุด.
เมื่อนิสิตสามารถหยุดความคิดได้ดี สมองก็จะทำหน้าที่เพียงแค่การรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูก เพียงกิจเดียวเท่านั้นเอง จึงเป็นผลให้ร่างกาย สมองหรือจิตใจได้รับการพักผ่อนด้วยความมีสติ.
นิสิตไม่ควรเร่งสติ(เร่งความตั้งใจ)มากเกินไปจนกลายเป็นความเครียด เพราะจะทำให้สมองและร่างกายไม่ได้พัก และไม่ควรทำแบบสบายจนเกินไป จนกลายเป็นความย่อหย่อน หรือง่วงนอน แต่ให้ตั้งอยู่ในความพอเหมาะพอดี.
นิสิตไม่ควรฝึกเจริญสมาธินานเกินไปจนกลายเป็นการเบียดเบียนร่างกายของตนเอง และไม่ควรฝึกน้อยจนเกินไปกลายเป็นความเกียจคร้าน คงให้ถือปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ ความพอเหมาะและพอดีกับสภาพร่างกาย จิตใจ เพศ อายุ ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ภาระกิจอื่น ๆ และเหตุปัจจัยต่าง ๆ ในขณะนั้น.
นิสิตที่เริ่มฝึกใหม่ ๆ อาจรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกได้ไม่ค่อยชัดเจนนัก ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกนั้น จะสัมผัสเบา ๆ ที่รูจมูก. ถ้าประสงค์จะรับรู้ความรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น ก็ควรหายใจให้แรงขึ้นอีกเล็กน้อย แล้วจะรับรู้ความรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น จากนั้นจึงค่อย ๆ ผ่อนการหายใจให้กลับมาเป็นปกติ.
ขณะฝึกเจริญสมาธิ นิสิตควรพยายามฝึกให้มีสติตั้งมั่นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถหยุดความคิดของได้อย่างต่อเนื่อง. ขณะที่นิสิตสามารถหยุดความคิดไม่ให้ไปคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่นั้น จิตใจของนิสิตจะว่างจากกิเลสและกองทุกข์ เข้าถึงภาวะนิพพานเป็นการชั่วคราว.
ปัญหาที่ผู้เริ่มต้นฝึกเจริญสมาธิพบและเป็นเหตุให้มักเลิกลาไป คือ ไม่สามารถดับความคิดฟุ้งซ่านได้ดีสมกับความต้องการ. แต่อันที่จริงแล้ว ยิ่งมีความคิดฟุ้งซ่านมากเท่าไร ยิ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ให้รู้เห็นชัดเจนว่า จะต้องฝึกเจริญสมาธิต่อไป.
การเจริญสติเพื่อกำกับและควบคุมความคิด
การฝึกใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำของตนเอง ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมอยู่ตลอดเวลา(เรียกย่อ ๆ ว่า เจริญสติ) จะทำให้มีการพัฒนาความสามารถในการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามหลักธรรมได้มากขึ้น ขณะเดียวกันความทุกข์ก็จะลดลง ความสุขสงบและความบริสุทธิ์ผ่องใสทางจิตใจก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย.
ความสามารถดังกล่าว ขึ้นอยู่กับความสามารถด้านสติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำของตนเอง. ถ้านิสิตมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำไม่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถรู้เห็นและควบคุมความคิดได้ดีเท่าที่ควร จึงทำให้นิสิตมีความทุกข์หรือความคิดขาดหลักธรรมเป็นครั้งคราว ตามแต่เหตุปัจจัยในขณะนั้น.
การจะป้องกันและหยุดความคิดที่เป็นอกุศลได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นิสิตจะต้องมีเจตนา มีความตั้งใจ(มีสติ) และมีความเพียรในการฝึกฝนตนเอง ให้มีและให้ใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม(รวมทั้งหลักธรรม)ในความจำอย่างว่องไว ในการรู้เห็นการเริ่มต้นของความคิดที่มีข้อมูลด้านกิเลสเจือปน และหยุดความคิดดังกล่าวอย่างรวดเร็วที่สุด.
เมื่อนิสิตฝึกสติเช่นนี้เป็นประจำ ไม่นานนัก ก็จะสามารถรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วคล้ายอัตโนมัติ เช่นเดียวกับความสามารถต่าง ๆ ทางโลกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน.
หลักการของการฝึกเจริญสติปัญญาทางธรรม
การเจริญสติปัญญาทางธรรม(เจริญสติ)เป็นเนื้อหาสำคัญของสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ และเป็นวิธีการสำคัญมาก ๆ ที่ใช้ในการดับกิเลสและกองทุกข์ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ไม่ได้เจริญสมาธิ. คนไทยส่วนมากไม่ได้ศึกษาธรรมและไม่ได้ปฏิบัติธรรมในเรื่องสัมมาสติอย่างจริงจัง จึงทำให้ความรู้ความสามารถในการดับกิเลสและกองทุกข์มีน้อยกว่าที่ควรจะทำได้.
หลักการของการฝึกเจริญสติในที่นี้ คือ การฝึกใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม(รวมทั้งหลักธรรม)ที่มีอยู่ในความจำ ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อมูลดังกล่าว อย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องรอวัน เวลา และสถานที่.
เหตุที่ต้องฝึกเจริญสติ เพราะในชีวิตประจำวัน นิสิตจะไม่สามารถเจริญสมาธิได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นจะต้องเจริญสติในขณะทำกิจต่าง ๆ ไปด้วย เพื่อการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งการมีความปลอดภัยของชีวิต ทรัพย์สิน และการไม่มีความทุกข์ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจที่รุนแรง.
องค์ประกอบของการเจริญสติปัญญาทางธรรม
การฝึกเจริญสติปัญญาทางธรรม(เจริญสติ)เป็นกิจส่วนใหญ่ของการปฏิบัติธรรม เป็นการเจริญวิปัสสนา(เจริญสติ)เพื่อการดับกิเลสและกองทุกข์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีขั้นตอนง่าย ๆ ที่นิสิตสามารถทดลองฝึกและพิสูจน์ผลของการฝึกได้ด้วยตัวเอง. องค์ประกอบโดยย่อ ที่จะต้องตามฝึกมี ๓ องค์ประกอบ ดังนี้ :-
๑. ในชีวิตประจำวัน ให้ฝึกมีสติอยู่ที่ฐานหลักของสติอยู่เสมอ คือ มีส่วนหนึ่งของสติอยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกอยู่เสมอ(ไม่จำเป็นต้องทุกวินาที) และฝึกแบ่งสติจากฐานหลักของสติ หรือแบ่งความตั้งใจไปใช้ในการรู้เห็นความคิด ถ้ารู้เห็นว่ามีความคิดที่เป็นอกุศล หรือขัดแย้งกับหลักธรรม ก็ให้รีบหยุดความคิดนั้น ๆ ทันที อย่ารอแม้แต่วินาทีเดียว.
๒. ฝึกพิจารณาธรรม ด้วยการศึกษาธรรมเพิ่ม ทบทวนธรรมเรื่องอริยสัจ ๔ และพิจารณาแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจ โดยใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม ที่มีอยู่ในความจำ.
๓. ฝึกใช้สติปัญญาทางโลก และสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน
วิธีเร่งรัดการพัฒนาจิต
ขอแนะนำให้นิสิตฝึกตั้งเจตนาอยู่เสมอ หรือสอนตัวเอง หรือเตือนตัวเองตามหลักธรรมอยู่เสมอว่า "เราจะมีสติไม่คิดและไม่ทำอกุศลทั้งปวง เราจะคิดและทำแต่กุศลให้ถึงพร้อม โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ด้วยความโลภ และรักษาจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ เพื่อให้เราห่างไกลจากอกุศลและความทุกข์อยู่ตลอดเวลา" รวมทั้งมีความตั้งใจ และมีความเพียร ที่จะฝึกรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรมดังกล่าววันละหลาย ๆ ครั้ง จะทำให้นิสิตสามารถเริ่มดำเนินชีวิตตามหลักธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
ถ้าเป็นไปได้ นิสิตควรฝึกประเมินผลของการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมวันละ ๒ - ๓ ครั้ง จะช่วยเร่งรัดให้นิสิตปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมได้อย่างจริงจัง.
ทุกครั้งที่รู้ว่าคิดหรือทำอกุศล ให้ตั้งใจมีเจตนาหรือตักเตือนตนเองว่า "เราจะไม่คิดและไม่ทำเช่นนี้อีกต่อไป". ทั้งนี้ เพื่อสร้างเจตนาซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ข้อมูลเจตนาเช่นว่านี้ มีอยู่ในความจำมากขึ้น. นาน ๆ เข้า นิสิตจะมีข้อมูลเช่นนี้ในความจำของสมองมากขึ้น จนเพียงพอที่จะหยุดการคิดและการทำอกุศลได้อย่างมีประสิทธิภาพ. ในอดีตเรานิยมใช้คำว่าอธิษฐานจิต ซึ่งนั่นก็คือความเจตนานั่นเอง.
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักธรรมนี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะทรงโปรดให้สวดปาฏิโมกข์(สวดศีล ๒๒๗ ข้อ)อย่างปัจจุบันนี้แทน. ดังนั้น จึงเข้าใจว่า การมีสติปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมอย่างจริงจัง ครบถ้วน และถูกต้องตามสมควร จะสามารถพัฒนาความรู้สึกนึกคิด ความจำ รวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้สูงขึ้นจนภาวะจิตใจมีความประเสริฐในระดับต่าง ๆ (อริยบุคคล).
วิธีฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะเดินทาง ขณะฟังบรรยาย และขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ขณะดูรายการทางโทรทัศน์ นิสิตควรฝึกมีสติตั้งอยู่ที่ฐานหลักของสติไว้เสมอ(ถ้าทำได้) พร้อมกับฝึกมีสติในการใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรมอยู่เสมอ.
การมีสติอยู่ที่ฐานหลักของสติเพียงอย่างเดียว หรือมีสติอยู่ที่อิริยาบถและการเคลื่อนไหว โดยไม่ตั้งใจใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรม ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ครบสมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถป้องกันกิเลสและดับกิเลสและกองทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
การศึกษาธรรมและฝึกปฏิบัติธรรมครบตามองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ จะทำให้ความสามารถด้านสติปัญญาทางธรรมก้าวหน้าได้เร็วขึ้น.
หน้าที่ของผู้เริ่มฝึกปฏิบัติธรรม คือ จะต้องจดจำข้อมูลหลักธรรมให้ขึ้นใจ และหมั่นทบทวนเจตนาที่จะฝึกฝนตนเองวันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรู้เห็นและควบคุมความคิดอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความเคยชิน จนถึงขั้นเป็นนิสัยหรือเป็นวิถีทางในการดำเนินชีวิตตามปกติ.
การวางแผนการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งการวางแผนการชีวิตเพื่อความก้าวหน้า ย่อมสำเร็จไปได้ด้วยดี ถ้ามีสติคอยรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนการ และเป็นไปตามคุณธรรมที่วางไว้.
การเจริญสมาธิสลับกับการเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นสุดยอดของการปฏิบัติธรรม
ในชีวิตประจำวัน เมื่อนิสิตฝึกเจริญสติในขณะทำกิจต่าง ๆ ได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง(หรือตามความเหมาะสม) ให้สลับด้วยการฝึกเจริญสมาธิประมาณ ๓๐ - ๖๐ วินาทีหรือมากกว่า โดยไม่ต้องหลับตาก็ได้ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อที่จะป้องกันร่างกายและสมองล้า เป็นการเตรียมพร้อมที่จะศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีสติเต็มที่ในชั่วโมงถัดต่อไป.
ทุก ๆ วัน ถ้าเป็นไปได้ นิสิตควรหาโอกาสฝึกเจริญสมาธิอย่างจริงจัง เพื่อการฝึกสติอย่างเข้มข้น ด้วยการฝึกเจริญสมาธิระยะยาววันละ ๑ - ๒ ครั้ง โดยใช้เวลาครั้งละ ๑๐ - ๓๐ นาทีหรือตามความเหมาะสม จะเป็นที่บ้านหรือในที่ปลอดภัยก็ได้ เพื่อเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติในความจำ ให้มีความสามารถทางสติมากขึ้นอย่างรวดเร็ว.
การเจริญสมาธิสลับกับการเจริญสติในชีวิตประจำวัน จึงเป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นสุดยอดของการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรม เพราะสามารถทำได้ทั้งวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือกำลังทำอะไรอยู่. เมื่อฝึกฝนเป็นประจำ พอนานเข้า สมองจะมีความสามารถในการทำหน้าที่ตามที่ได้ฝึกฝนเอาไว้จนคล้ายอัตโนมัติ.
ในช่วงแรกของการฝึกปฏิบัติธรรม นิสิตควรเร่งรัดตนเองเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าไม่เร่งรัด อาจพ่ายแพ้ความคิดที่เป็นอกุศล ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เลิกลาการปฏิบัติธรรมไปได้โดยง่าย.
เมื่อฝึกอย่างจริงจังสักระยะเวลาหนึ่ง ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำจะมากขึ้น ทำให้จิตใจเบาสบาย สงบสุข และไม่ค่อยมีความทุกข์ เป็นผลให้มีศรัทธาในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังต่อไป ขณะเดียวกัน ความรู้และความสามารถในการรู้เห็นและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมก็จะมากขึ้นตามลำดับด้วย.
ความก้าวหน้าและการประเมินผล
นิสิตควรฝึกสังเกตความก้าวหน้าของตนเองเองในเรื่องการใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวันว่า ทำได้มากน้อยเพียงใด โดยสังเกตว่า มีสติอยู่ที่ฐานหลักของสติอยู่เสมอ แล้วแบ่งสติมาทำกิจต่าง ๆ รวมทั้งรู้เห็นและควบคุมความคิดในระหว่างทำกิจต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและด้านสติปัญญาทางธรรมอยู่เสมอหรือไม่ มากน้อยเพียงใด.
นิสิตควรประเมินผลความสำเร็จซึ่งเกิดจากการพิจารณาแก้ปัญหาต่าง ๆ ว่า สามารถทำให้ความทุกข์จากปัญหาต่าง ๆ ลดลง และทำให้สามารถดำเนินชีวิตตามหลักธรรม(โอวาทปาฏิโมกข์)ได้มากน้อยเพียงใด.
ถ้าการปฏิบัติธรรมของนิสิตไม่สามารถลดความทุกข์ลงได้กว่าที่ควร หรือไม่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามหลักธรรมได้ดีเท่าที่ควร ก็มักจะพบว่า มีสาเหตุมาจากการมีความเพียรน้อยไป ก็ควรพยายามที่จะเร่งความเพียรให้มากขึ้น แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่า มีสาเหตุมาจากอะไร ก็ควรปรึกษาผู้รู้ว่า การศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมของท่านที่ผ่านมาถูกทางหรือไม่ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้หมดไป.
ควรแสวงหาความรู้ในการพัฒนาจิตตลอดไป
เมื่อยังไม่ตาย ทุกคนควรศึกษาหาความรู้ไปทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป เพื่อการศึกษา ปฏิบัติงาน และดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ.
สำหรับการศึกษาหาความรู้ทางธรรม นิสิตควรศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างจริงจังต่อไปเรื่อย จนกว่าจะจบชีวิต.
อริยสัจ ๔ มีเนื้อหาน้อย พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบกับใบไม้เพียงกำมือเดียวเท่านั้นเอง แต่เมื่อนำไปปฏิบัติจะทำให้เกิดการพัฒนาจิตใจเพื่อการศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ.
หนังสือที่มีเนื้อหาของอริยสัจ ๔ อย่างเพียงพอ ที่นิสิตควรศึกษา คือหนังสือเรื่อง พุทธธรรม เขียนโดย ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ซึ่งเป็นหนังสือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการธรรม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น