วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

เกมภาษาอังกฤษง่ายๆ

1. There is a word in the English language in which the first two letters signify a male the first three letters signify a female the first four signify a great man and the whole word a great woman. What is the word?

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การพัฒนาจิตเพื่อการศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ

การพัฒนาจิตเพื่อการศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ
การศึกษาวิชาการทางโลก มักจะมุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางวิชาการ(ทางโลก)ในความจำ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ๔ และอื่น ๆ เพื่อดับความทุกข์ทางร่างกายเป็นหลัก
การศึกษาวิชาการทางธรรม มุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้พ้นทุกข์ทางจิตใจเป็นหลักและไม่เบียดเบียนผู้อื่น คล้ายกับวิชาจิตวิทยาในการดับความทุกข์ และวิชาพัฒนาจิตใจให้ประเสริฐ
การศึกษาวิชาการทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันไปด้วย จะทำให้นิสิตมีประสบการณ์ มีความชำนาญ จนสามารถศึกษา ปฏิบัติงาน และดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป ซึ่งเป็นชีวิตที่ประเสริฐของนิสิต
เนื่องจากการศึกษาในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักจะมุ่งตรงไปที่การพัฒนาข้อมูลสติปัญญาทางโลกในความจำ. ดังนั้น การดูแลตนเองทางด้านจิตใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นิสิตทุกคนควรได้รับความรู้และฝึกฝนตนเองอยู่ตลอดเวลาที่เป็นนิสิต เพื่อที่จะได้สามารถดูแลตนเองให้มีการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ ครั้นเมื่อจบการศึกษาแล้ว นิสิตก็จะได้สามารถดูแลตนเองทั้งทางโลกและทางธรรมได้เป็นอย่างดี ทำให้ประสบความสำเร็จของชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อม ๆ กัน. การประสบคำสำเร็จทางธรรม คือ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องตามหลักธรรม จึงทำให้มีจิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส และไม่มีความทุกข์ทางจิตใจที่รุนแรง.
ประโยชน์ของการพัฒนาจิต
การพัฒนาจิตตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นวิชาการทางด้านจิต(จิตใจ)ที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ทุกคนสามารถพิสูจน์ได้โดยง่าย ไม่เกี่ยวข้องกับความหลงเชื่อ. เมื่อนิสิตได้ศึกษาและทดลองฝึกปฏิบัติดู จะได้รับผล ภายในวินาทีที่ลงมือฝึกปฏิบัติ คือ จะมีความเบาสบาย สงบ ไม่มีความทุกข์ภายในจิตใจ และจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะเป็นเรื่องของการใช้สติปัญญาของตนเอง ความทุกข์ทางจิตใจของนิสิตที่น่าจะพบได้บ่อยเมื่อเกิด "ความเกินความพอเหมาะพอควร(นอกทางสายกลาง)" ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด ความเหนื่อยอ่อน การพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัญหาสุขภาพ การเจ็บป่วย การเดินทาง ค่าใช้จ่าย ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความรัก ความหลงเชื่อ ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ความโกรธ ความไม่เท่าเทียม ความเซง ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความพ่ายแพ้ ความไม่สมหวัง ความเสียใจ ความไม่สบายใจที่เกินความพอเหมาะพอควร เป็นต้น. ความทุกข์ทางจิตใจที่เกิดจากความเกินพอดีในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว สามารถป้องกันและดับได้โดยง่าย ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน.
ในชีวิตประจำวัน การมีสติในการใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรม จึงมีประโยชน์อย่างมากมายต่อนิสิต ทั้งด้านการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ :-
ประโยชน์ด้านการศึกษา
การฝึกพัฒนาจิตใจของตนเองในด้านสติ ด้วยการศึกษาเรื่องสติและฝึกเจริญสติเป็นประจำ จะทำให้นิสิตมีสติตั้งมั่น(มีความตั้งใจแน่วแน่)ในการฟังคำบรรยาย ไม่เผลอสติ ไม่คิดฟุ้งซ่าน ไม่คิดและทำกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จึงทำให้มีการคิด พิจารณา ทำความเข้าใจ จดจำ และบันทึกเนื้อหาที่สำคัญของคำบรรยายไว้ได้เป็นอย่างดี เป็นเหตุให้ผลของการศึกษาดีขึ้น ตามกำลังความสามารถของข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำขณะนั้น ถ้าไม่มีสติในการฟัง หรือมีสติน้อย ความคิดฟุ้งซ่านก็มักจะมากขึ้น อาจมีการใช้เวลาไปคิดและทำเรื่องอื่นบ่อยขึ้น ทำให้ความสามารถของสมองในการคิดและการจดจำลดลง และผลการเรียนก็จะต่ำลงด้วย
การฝึกฝนตนเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาในการฟังคำบรรยาย จะทำให้สมองของนิสิตมีข้อมูลด้านสติมากขึ้น พอนานเข้า สติในการฟังคำบรรยายก็จะมีมากขึ้น ความฟุ้งซ่านก็จะลดลง เป็นผลให้เกิดการพัฒนาความสามารถของการมีสติในการศึกษาดีขึ้นตามลำดับ และผลของการศึกษาก็จะดีขึ้นด้วย เมื่อนิสิตมีสติมากขึ้น มีข้อมูลสติปัญญาทางวิชาการมากขึ้น การศึกษาในเวลาต่อมาจะง่ายขึ้นเพราะมีข้อมูลในความจำมาใช้ประกอบการทำความเข้าใจได้มากขึ้น เป็นผลให้ความทุกข์ต่าง ๆ ในเรื่องของการศึกษาและเรื่องที่เกี่ยวข้องลดลง
การพัฒนาจิตโดยการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมอย่างง่าย ๆ และมีคุณค่าไว้ในความจำ พร้อมทั้งมีสติในการใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินชีวิต จะทำให้นิสิตมีสติในการรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าอะไรควรคิดและควรทำ รู้ว่าอะไรไม่ควรคิดและไม่ควรทำ. ถ้านิสิตมีสติในการไม่คิดชั่ว(ไม่คิดอกุศล)และไม่ทำชั่ว คงมุ่งแต่การคิดดี(คิดแต่กุศล)และทำแต่ความดี จะเป็นผลให้นิสิตมุ่งหน้าไปในด้านของการศึกษาตามหน้าที่ความรับผิดชอบ แทนที่จะเสียเวลาไปกับการคิดฟุ้งซ่าน การคิดและทำกิจที่เป็นอกุศล ซึ่งเป็นผลร้ายต่อการศึกษาโดยตรง.
ประโยชน์ด้านการดำเนินชีวิต
การพัฒนาจิตใจของตนเอง ด้วยการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะเป็นผลดีต่อจิตใจดังต่อไปนี้ :-
๑. ส่งเสริมสุขภาพจิตให้มีความเข้มแข็ง และอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในขณะดำเนินชีวิต รวมทั้งในยามเจ็บป่วย โดยไม่มีความทุกข์ทางจิตใจ เช่นเดียวกันกับการมีสุขภาพกายที่ดี ทำให้สามารถต่อสู้กับภาระกิจทางกาย และความเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี.
๒. ป้องกันความทุกข์ทางจิตใจได้ทุกขณะ เพราะเมื่อสมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ สมองก็จะทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจคล้ายอัตโนมัติ ถ้ามีการศึกษาและฝึกฝนจนชำนาญ เช่นเดียวกันกับการที่สมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งสมองก็จะทำหน้าที่ได้เองคล้ายอัตโนมัติ ถ้าได้ศึกษาและฝึกซ้อมมาก่อน.
๓. รักษาความทุกข์ทางจิตใจได้ทุกขณะ เพราะเมื่อสมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ สมองก็จะสามารถทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อการรักษาความทุกข์ทางจิตใจที่กำลังมีอยู่ได้ทุกขณะที่ต้องการ เช่นเดียวกันกับการที่สมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและใช้ข้อมูลดังกล่าวในการรักษาความทุกข์ทางกายที่เกิดขึ้นเมื่อต้องการรักษา ซึ่งเป็นการพึ่งพาข้อมูลสติปัญญาของตนเอง.
๔. ฟื้นฟูจิตใจภายหลังการเจ็บป่วยและหลังจากมีความทุกข์ เพราะเมื่อสมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ สมองก็จะทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อทำการฟื้นฟูจิตใจได้อย่างรวดเร็วตามเจตนาของเจ้าของ.
สมองทำงานตามที่นิสิตมีเจตนา
ในการทำกิจต่าง ๆ จะสังเกตว่า สมองจะทำหน้าที่ในการคิดและในการทำกิจต่าง ๆ ตามที่มีเจตนา เช่น เมื่อเกิดมีเจตนาว่า จะเดินไปที่ใดที่หนึ่ง สมองก็จะทำหน้าที่ในการควบคุมให้มีการเดินไปยังที่นั้น ซึ่งเป็นการแสดงว่า สมองจะตอบสนองต่อความคิดที่เป็นเจตนาเสมอ. ความเจตนาจึงมีอิทธิพลมาก เช่น บางคนคิดฆ่าตัวตาย ต่อมามีเจตนาฆ่าตัวตาย ร่างกายก็ยังต้องตอบสนองความเจตนานั้นได้.
เมื่อรู้ชัดว่า สมองทำงานเช่นนี้เอง จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะฝึกควบคุมความคิดและการกระทำต่าง ๆ โดยการการตั้งเจตนา ตั้งใจ(มีสติ) และมีความเพียรฝึกปฏิบัติตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้.
ในขณะฝึกใหม่ ๆ สมองยังทำงานใหม่ได้ไม่คล่องแคล่ว และทำไม่ได้ต่อเนื่องนัก จึงมักจะให้มีการเผลอสติบ้าง คิดฟุ้งซ่านบ้าง คิดและทำเรื่องอื่น ๆ บ้าง. แต่เมื่อมีความเพียรในการฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ไม่นานนัก ก็จะเกิดความชำนาญ นั่นคือสมองทำหน้าที่ได้ดี สามารถทำตามเจตนาได้นาน และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
การพัฒนาจิตเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว
พัฒนาจิตมีเนื้อหาน้อยมาก ใช้เวลาศึกษาเพียงนิดเดียวก็สามารถเข้าใจเนื้อหาได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกฝนเป็นพิเศษ ไม่ต้องการสถานที่ ไม่ต้องกลัวเสียสติ และนิสิตทุกคนสามารถฝึกฝนตนเองในชีวิตประจำวันได้โดยง่าย ขอเพียงให้ดำเนินการตามแนวทางง่าย ๆ ดังนี้ :-
ในด้านการศึกษา
๑. มีเจตนาว่า จะฝึกมีสติ(มีความตั้งใจ)ในการศึกษาอย่างจริงจัง เช่น ขณะฟังคำบรรยาย และขณะทำกิจกรรมการศึกษาต่าง ๆ จะไม่เผลอสติ ไม่ไปคิดฟุ้งซ่าน ไม่คิดและไม่ทำเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา.
๒. มีความเพียรในการฝึกฝนตนเองในการมีสติรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้อยู่กับเรื่องการศึกษาตลอดเวลา.
เมื่อนิสิตตั้งใจลงมือฝึกปฏิบัติตามเจตนาที่ได้กล่าวแล้วเป็นประจำด้วยความเพียร ก็จะทำให้เกิดความชำนาญมากขึ้น จนสามารถรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้อยู่กับกิจที่นิสิตเจตนากระทำอยู่ได้คล้ายอัตโนมัติ.
ในด้านการดำเนินชีวิต
นิสิตควรฝึกตั้งเจตนาว่า "เราจะไม่คิดอกุศลและไม่ทำอกุศล แต่จะคิดกุศลและทำกุศลโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ด้วยความโลภ และรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ" พร้อมทั้งมีสติคอยรู้เห็นว่า ความคิดและการกระทำต่าง ๆ เป็นไปตามเจตนาหรือไม่ ถ้าเมื่อใดรู้เห็นว่า ไม่เป็นไปตามเจตนาที่ตั้งเอาไว้ ก็ให้มีสติหยุดความคิดและการกระทำนั้น ๆ ทันที เป็นผลให้จิตใจและการกระทำต่าง ๆ กลับมามีความบริสุทธิ์ทันที. เจตนาหรือหลักธรรมดังกล่าว เป็นสรุปหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์.
หลักการสำคัญในการพัฒนาจิตนั้นง่ายนิดเดียว
หลักการสำคัญในการพัฒนาจิตนั้นง่ายนิดเดียว คือ จะต้องศึกษาธรรมสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ตรงประเด็น และต้องฝึกปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความชำนาญในการรู้เห็นและควบคุมความคิด ให้เป็นไปตามหลักธรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีองค์ประกอบโดยย่อ ดังนี้ :-
๑. มีสติปัญญาเห็นชอบว่า การพัฒนาจิตมีประโยชน์โดยตรงต่อการศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ. การเห็นชอบเช่นนี้ จะทำให้เกิดศรัทธาที่จะศึกษาธรรมและฝึกปฏิบัติธรรม เพื่อการพัฒนาจิตใจของตนเองอย่างจริงจัง.
๒. มีสติจดจำหลักธรรมง่าย ๆ และทบทวนบ่อย ๆ ว่า "เราจะไม่คิดอกุศลและไม่ทำอกุศล แต่จะคิดกุศลและทำกุศลโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ด้วยความโลภ และรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ". หลักธรรมดังกล่าวไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์ ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพก็นำไปใช้ได้หมด.
๓. มีความเพียรที่จะมีสติ(ตั้งใจ)ในการรู้เห็นความคิดและการกระทำต่าง ๆ. ทันทีที่รู้เห็นความคิดหรือการกระทำต่าง ๆ ไม่เป็นตามหลักธรรม(ในข้อ ๒) ก็ให้หยุความคิดและการกระทำนั้น ๆ ทันที. เมื่อฝึกทำเช่นนี้เป็นประจำ อีกไม่นานนัก สมองก็จะทำหน้าที่ได้เองคล้ายอัตโนมัติ.
หลักการตามข้อที่ ๑ คือการสร้างศรัทธาและเจตนาที่ถูกต้อง หลักการตามข้อที่ ๒ คือจดจำข้อมูลหลักธรรม หลักการตามข้อที่ ๓ คือ มีสติและมีความเพียรในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม.
วิธีการในการพัฒนาจิตนั้นง่ายนิดเดียว
การพัฒนาจิตอย่างถูกวิธีเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว ไม่ต้องมีพิธีการ ไม่ต้องมีขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ขอแต่เพียงให้นิสิตเห็นคุณค่า(มีศรัทธา)อย่างจริงใจ แล้วมีความเจตนา ความตั้งใจ และมีความเพียรอย่างจริงจังที่จะทำให้เกิดผลตามที่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ ในทันที่ที่ลงมือปฏิบัติ.
วิธีฝึกพัฒนาจิตในด้านการศึกษาทำได้โดยง่าย กล่าวคือ ในขณะฟังคำบรรยายหรือฝึกปฏิบัติงานอยู่นั้น ให้นิสิตฝึกตั้งเจตนาและทบทวนเจตนาว่า จะฝึกมีความตั้งใจ และฝึกมีความเพียรที่จะมีสติอย่างต่อเนื่องในการรู้เห็นและควบคุมความคิด ให้มีการคิดและพิจารณาเนื้อหาของบทเรียนด้วยความตั้งใจ ไม่เผลอสติ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดและทำเรื่องอื่นใด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา. เมื่อฝึกไปนานเข้า นิสิตก็จะมีความชำนาญมากขึ้น จนสมองสามารถทำได้เองคล้ายอัตโนมัติ.
วิธีฝึกพัฒนาจิตในด้านการดำเนินชีวิต คือ ในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ฝึกตั้งเจตนาว่า จะมีความตั้งใจ และมีความเพียรที่จะมีสติอย่างต่อเนื่องในการควบคุมความคิดและการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรมง่าย ๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว. ในทันทีที่นิสิตรู้เห็นว่า ความคิดหรือการกระทำต่าง ๆ ที่ไม่ตรงตามหลักธรรม ก็ให้หยุดความคิดและการกระทำนั้น ๆ ทันที ขณะเดียวกัน อย่างปล่อยให้มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นบ่อยหรือนาน เพราะอาจเกิดความคิดฟุ้งซ่านที่เป็นอกุศลและทำอกุศลได้โดยไม่รู้ตัว เพราะขณะเผลอสติไปคิดอยู่นั้น มักจะไม่สามารถควบคุมความคิดให้เป็นไปตามเจตนาที่ตั้งไว้ได้.
ความคิดเป็นหัวหน้าของการกระทำต่าง ๆ
ตามธรรมชาติ ความคิดจะเป็นหัวหน้าของการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ เช่น เมื่อใดคิดดีการ กระทำทางกาย วาจา ใจ ย่อมดีไปด้วย และความสุขสงบก็จะติดตามมา. เมื่อใดคิดชั่วการกระทำทางกาย วาจา ใจ ย่อมชั่วไปด้วย และความทุกข์ก็จะติดตามมา ซึ่งตรงกับคำที่ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว การกระทำต่าง ๆ จะดีหรือชั่วนั้น เกิดจากใจ(ความคิด คือ องค์ประกอบของใจที่เป็นหัวหน้าของการกระทำต่าง ๆ ).
การมีเจตนาใช้เวลาในการศึกษาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการคิดเสียก่อน. ความคิดจึงมีอำนาจสูงสุดต่อการกระทำต่าง ๆ โดยตรง แม้กระทั่งการคิดฆ่าและมีเจตนาสั่งฆ่าผู้ที่มีความคิดเห็นต่างลัทธิกับตนเป็นจำนวนแสนหรือเป็นล้านคนก็ยังสามารถทำได้.
เมื่อมีเจตนารู้เห็นความคิดก็จะสามารถรู้เห็นความคิด
ในชีวิตประจำวัน นิสิตอาจจะไม่ได้สังเกตว่า การกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจนั้น เกิดจากความคิด เพราะไม่ได้มีเจตนารู้เห็นความคิดมาก่อน. ถ้าเป็นการคิดเรื่องที่ทำอยู่เป็นประจำและง่าย ๆ ความคิดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคล้ายอัตโนมัติ เนื่องจากสมองทำงานด้วยความชำนาญ เช่น การทำกิจวัตรประจำวันได้แก่ การเดิน การเข้าห้องน้ำ การรับประทานอาหาร เป็นต้น.
ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดและไม่เคยทำมาก่อน หรือเป็นเรื่องยาก สมองจะต้องใช้เวลาในการคิด เช่น การแก้เครื่องใช้ต่าง การเดินทางไปในที่ที่ยังไม่เคยไป การทำงานเรื่องยาก ๆ เป็นต้น.
วิธีการที่จะรู้เห็นความคิดนั้นง่ายนิดเดียว เพียงแต่ตั้งเจตนาว่า จะรู้เห็นความคิด พร้อมกับตั้งใจรู้เห็นความคิดอย่างจริงจังในขณะคิด ก็จะรู้เห็นความคิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะสมองทำหน้าที่ตามที่มีเจตนา. การระลึกว่า เมื่อกี้คิดอะไร ก็จะรู้เห็นความคิดที่สมองได้จดจำเอาไว้ ซึ่งเป็นวิธีการง่าย ๆ สำหรับการศึกษาเรื่องการรู้เห็นความคิดที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นได้ด้วย.
การรู้เห็นความคิดจึงจะทำให้สามารถกำกับและควบคุมความคิดได้
การที่จะควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามหลักธรรม ได้นั้น ก็ต่อเมื่อสามารถรู้เห็นความคิด เพราะความคิดเป็นที่เริ่มต้นของการกระทำต่าง ๆ. ดังนั้น เมื่อรู้เห็นและรู้ทันความคิดนั้น ๆ ว่า กำลังมีการคิดอกุศล ก็ให้หยุดความคิดนั้น ๆ เสียทันที เช่น มีเจตนาอย่างจริงจังว่า จะไม่คิดโดดร่มเพราะเป็นอกุศล ครั้นเมื่อมีการคิดว่า จะโดดร่มชั่วโมงนั้นหรือชั่วโมงนี้ ก็จะรู้เห็นและรู้ทันความคิดนั้นได้ในขณะที่มีสติ พร้อมทั้งมีสติหยุดความคิดนั้น ๆ ทันที การโดดร่มก็จะไม่เกิดขึ้น.
ถ้าไม่สามารถรู้เห็นและรู้ทันความคิด ก็จะไม่สามารถกำกับและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมได้.
ดังนั้น การจะพัฒนาจิตใจ จึงเน้นที่การมีสติในการใช้ข้อมูลหลักธรรมที่มีอยู่ในความจำ ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิด ให้คิดตามหลักธรรมอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน และเมื่อใดที่ความคิดเป็นอกุศล ซึ่งไม่ตรงกับหลักธรรม ก็ให้มีสติหยุดความคิดนั้น ๆ เสีย ภายในวินาทีนั้นเลย เพื่อความไม่ประมาท.
การกำกับและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมเป็นประจำ จะทำให้ข้อมูลสติปัญญาทางธรรมในความจำมีมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นนิสัย. ขณะเดียวกัน เมื่อมีการคิดและการกระทำต่าง ๆ เป็นไปตามหลักธรรมอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลความจำด้านอกุศล(กิเลส)ที่จดจำไว้จะค่อยลดลงไป เพราะข้อมูลด้านอกุศลในความจำที่ไม่ได้ใช้งาน หรือไม่ได้ทบทวนอยู่เสมอย่อมจะลดลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากธรรมชาติของสมองเป็นเช่นนั้นเอง. ยิ่งมีข้อมูลด้านอกุศลในความจำลดน้อยลง โอกาสที่จะคิดด้วยข้อมูลด้านอกุศลย่อมลดน้อยลงไปด้วย.
เมื่อไม่คิดอกุศล จิตใจย่อมบริสุทธิ์ผ่องใส
ตามธรรมชาติ ขณะที่สมองของนิสิตไม่ได้คิดด้วยข้อมูลด้านอกุศลอยู่นั้น จิตใจของนิสิตย่อมบริสุทธิ์ผ่องใส พร้อมทั้งมีความเบาสบาย(ปีติ) และมีความสุขสงบ(ปัสสัทธิ)จากการไม่มีความทุกข์.
การไม่คิดและไม่ทำอกุศล แต่คิดและทำกุศลให้ถึงพร้อมโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ด้วยความโลภ ย่อมทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งเป็นความจริงที่นิสิตสามารถพิสูจน์ได้ทุกเมื่อ.
ในขณะที่ร่างกายไม่ได้เจ็บป่วย แต่จิตใจของกลับมีอาการขุ่นมัวหรือไม่บริสุทธิ์ผ่องใส มักจะมีสาเหตุที่สืบเนื่องมาจากขณะนั้นกำลังมีความคิดที่เจือปนด้วยข้อมูลด้านอกุศลนั่นเอง.
ความอยากและความไม่อยากที่มีความพอดีไม่ทำให้เกิดความทุกข์
ตามธรรมชาติของมนุษย์ จะต้องมีความรู้สึกอยากและไม่อยากติดตัวมาตั้งแต่เกิด. ความอยากและไม่อยากจะผลักดันให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ได้ยาวนานและปลอดภัย เช่น การอยากรับประทานอาหาร การอยากพักผ่อน การอยากมีชีวิตอยู่ การอยากมีความปลอดภัย การอยากช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ การไม่อยากอดอยาก การไม่อยากเหนื่อย การไม่อยากเจ็บป่วย การไม่อยากตายก่อนกำหนดเวลา การไม่อยากได้รับอันตราย เป็นต้น.
ความอยากและความไม่อยากที่พอเหมาะและพอควรจึงเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามธรรมชาติของมนุษย์. ดังนั้น ความอยากและไม่อยากย่อมทำให้มีความทุกข์ทางจิตใจบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นวิสัยที่มนุษย์ควรมี และไม่จำเป็นต้องใช้หลักธรรมในการดับความทุกข์ประเภทนี้ เช่นเดียวกับความทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ทางร่างกายในชีวิตประจำวันของคนปกติ ที่เกิดขึ้นขณะหิวอาหาร ขณะปวดปัสสาวะ ขณะปวดอุจจาระนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องบำบัดรักษาแต่ประการใด ถ้าไม่ก่อปัญหารุนแรง.
ความต้องการมากเกินพอดี ที่จะให้เป็นไปตามที่ตัวอยากและไม่อยากจนเกินความพอเหมาะพอดี เรียกว่า ตัณหา เมื่อเกิดความคิดที่เป็นตัณหา(คิดอกุศล)ความทุกข์ที่มากกว่าระดับปกติก็จะเกิดตามมาด้วย. การจะดับทุกข์ได้นั้น ต้องดับที่หัวหน้า คือดับหรือหยุดความคิดที่เป็นอกุศลเสีย ตัณหาก็จะดับไปทันที.
การฝึกเจริญสมาธิเพื่อหยุดความคิด
วัตถุประสงค์ของการฝึกเจริญสมาธิ คือ การฝึกสติอย่างเข้มข้น เพื่อหยุดความคิดทุกรูปแบบ การฝึกหยุดความคิดทุกแบบ โดยการมีสติอยู่กับกิจเล็ก ๆ เพียงกิจเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกกำกับและควบคุมความคิด.
ขณะที่มีสมาธิตั้งมั่นอยู่กับกิจที่กำหนดไว้ เช่น อยู่กับลมหายใจ จะทำให้หยุดการคิดหรือไม่ไปคิดเรื่องอื่น และไม่เผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน. ความคิดฟุ้งซ่านอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการคิดด้วยข้อมูลด้านอกุศลได้โดยง่าย เนื่องจากขณะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น จะไม่สามารถรู้เห็นและควบคุมความคิดได้.
ให้นิสิตฝึกทดลองเจริญสมาธิตามรูปแบบที่เคยฝึกปฏิบัติมาก่อน เมื่อสมาธิมีความตั้งมั่นตามสมควร คือ ขณะที่มีสติอยู่กับกิจเล็ก ๆ ที่มีเจตนากระทำอยู่ ก็จะไม่คิดเรื่องอื่นใด รวมทั้งไม่ได้คิดฟุ้งซ่านด้วย. ภาวะที่จิตใจมีความตั้งมั่นดังกล่าวแล้ว เป็นภาวะที่นิสิตไม่มีการคิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง และไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นภาวะของจิตใจที่มีความบริสุทธิผ่องใส ห่างไกลจากกิเลสและกองทุกข์ หรือมีภาวะนิพพานชั่วคราว.
ต่อไปให้นิสิตทดลองลืมตาเจริญสมาธิ จะสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่า ให้ผลเช่นเดียวกันกับการหลับตาทำสมาธิ เพียงแต่ว่า อาจรู้สึกสงบน้อยกว่าการหลับตาเจริญสมาธิ และมีโอกาสที่จะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านได้ง่ายขึ้น.
การเจริญสมาธิอย่างถูกต้องตามหลักการในพระพุทธศาสนา คือการฝึกมีสติในการกำกับและควบคุมความคิดอย่างจริงจังถึงขั้นหยุดความคิด เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนเป็นอย่างดีเยี่ยมและอย่างมีสติในขณะที่ไม่ได้นอนหลับ. ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกสมาธิจนมีความชำนาญคือ จะสามารถหยุดความคิดต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกับหลักธรรมได้ในทันทีที่ต้องการ.
หลักการและวิธีฝึกเจริญสมาธิอย่างง่าย ๆ
นิสิตควรเลือกที่นั่งให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับการฝึกเจริญสมาธิ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายจากการเผลอสติหรือหลับในแล้วพลัดตกลงมา. นิสิตควรฝึกนั่งตัวตรง ดำรงจิตมั่น ไม่เผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน แต่ไม่ควรเร่งสติหรือตั้งใจมากเกินไป จนเกิดความเครียดหรือมีอาการเกร็งไปหมด.
นิสิตควรฝึกตั้งใจมั่น(มีสติ)ในระดับพอเหมาะพอดี(ทางสายกลาง) โดยสังเกตว่า ขณะฝึกปฏิบัติจะต้องมีความรู้สึกเบาสบาย กล้ามเนื้อทั้งตัวมีความผ่อนคลาย มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะปล่อยวางทุกเรื่องให้หมด คงเหลือแต่เพียงการรับรู้ความรู้สึกเบา ๆ ของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเพียงกิจเดียวเท่านั้น.
เพื่อที่นิสิตจะได้ฝึกเจริญสมาธิในชีวิตประจำวันได้ทุกเมื่อ จึงควรฝึกเจริญสมาธิในท่าที่ท่านเคยนั่งตามปกติ โดยไม่ต้องรอโอกาสที่จะนั่งขัดสมาธิกับพื้นตามรูปแบบที่นิยมกันในอดีตเสียก่อน แล้วจึงค่อยฝึกเจริญสมาธิ. ในกรณีย์ที่มีความพร้อมที่จะนั่งขัดสมาธิบนพื้นตามรูปแบบเดิม ก็สามารถทำได้ตามอัทธยาศัย.
การฝึกเจริญสมาธิในท่านอนก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องระวัง เพราะอาจจะเผลอสติหรือนอนหลับไปได้โดยง่าย. นิสิตควรฝึกในท่านอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ตามความเหมาะสมกับเหตุปัจจัย. การฝึกเจริญสมาธิในท่านอนตะแคง จัดว่าเป็นท่าที่เป็นทางสายกลางของอิริยาบถนอน คือ จะไม่หลับง่ายเหมือนท่านอนหงาย และไม่ลำบากร่างกายเหมือนในท่านอนคว่ำ. การเจริญสมาธิในอิริยาบถนอนจะช่วยให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนดีที่สุด จึงเหมาะสำหรับใช้ในการปรับเปลี่ยนอิริยาบถเป็นครั้งคราว.
การฝึกปฏิบัติธรรมในท่ายืน ในท่าเดิน และในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ใช่การฝึกเจริญสมาธิ ในที่นี้จัดว่าเป็นการฝึกเจริญสติ เพราะต้องแบ่งสติไปใช้หลายด้าน เพื่อให้มีความปลอดภัย เช่น ใช้ในการรับรู้ข้อมูลการทรงตัว การเดิน การคิด เป็นต้น.
การเจริญสมาธิทำให้เกิดการหยุดความคิด จึงเป็นผลให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนอย่างมีสติในขณะที่ไม่ได้นอนหลับ รวมทั้งไม่มีความทุกข์ ซึ่งเป็นภาวะของจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส.
หลักการสำคัญของการเจริญสมาธิ คือ ให้ฝึกมีสติในการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกซึ่งเป็นกิจเล็ก ๆ และง่าย ๆ เพียงกิจเดียว โดยไม่มีการใช้สมองไปในการนึกคิดเรื่องอื่นใด ถ้าเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน หรือมีความคิดหรือมโนภาพแทรกขึ้นมาก็ให้หยุดเสีย โดยการลืมตาชั่วคราวแล้วเจริญสมาธิต่อไป หรือเร่งสติมากขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ได้ ความคิดหรือมโนภาพก็จะถูกตัดตอน.
วิธีฝึกเจริญสมาธิตามรูปแบบอานาปานสติสมาธิ เป็นการฝึกมีสติในการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเพียงกิจเดียว กล่าวคือ พอลมหายใจผ่านเข้าตรงรูจมูก ก็มีสติรับรู้ความรู้สึกว่า ลมหายใจกำลังผ่านเข้า พอลมหายใจผ่านออกตรงรูจมูก ก็มีสติรับรู้ความรู้สึกว่า ลมหายใจกำลังผ่านออก.
บางท่านที่ไม่เคยฝึกอานาปานสติสมาธิมาก่อน อาจจะรู้สึกว่า การรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเป็นของยาก แต่ขอยืนยันว่า เมื่อตั้งใจฝึกฝนตนเองได้ไม่นานนัก ก็จะกลับกลายเป็นเรื่องง่ายมาก ๆ เหมือนกับการรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสต่าง ๆ นั่นเอง เพียงแต่เป็นความรู้สึกสัมผัสที่เบา ๆ ว่า มีลมหายใจผ่านเข้าออกตรงรูจมูกเท่านั้นเอง.
เมื่อนิสิตฝึกได้สักระยะเวลาหนึ่ง ก็จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า การรับรู้ความรู้สึกสัมผัสที่เบา ๆ กลับกลายเป็นของดี เพราะมีความละเอียดอ่อน มีความสงบทั้งใจและกาย มีความประณีต มีความเบาสบาย(ปีติ) มีความสุขสงบ(ปัสสัทธิ) ไม่เครียด ไม่ต้องใช้ตาเพ่ง ไม่ต้องใช้ใจเพ่ง ไม่เหนื่อยกาย ไม่เหนื่อยใจ ไม่ต้องใช้สมองมาก ร่างกายและสมองได้พักผ่อนอย่างมีสติในขณะที่ไม่ได้นอนหลับได้ดีที่สุด.
เมื่อนิสิตสามารถหยุดความคิดได้ดี สมองก็จะทำหน้าที่เพียงแค่การรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูก เพียงกิจเดียวเท่านั้นเอง จึงเป็นผลให้ร่างกาย สมองหรือจิตใจได้รับการพักผ่อนด้วยความมีสติ.
นิสิตไม่ควรเร่งสติ(เร่งความตั้งใจ)มากเกินไปจนกลายเป็นความเครียด เพราะจะทำให้สมองและร่างกายไม่ได้พัก และไม่ควรทำแบบสบายจนเกินไป จนกลายเป็นความย่อหย่อน หรือง่วงนอน แต่ให้ตั้งอยู่ในความพอเหมาะพอดี.
นิสิตไม่ควรฝึกเจริญสมาธินานเกินไปจนกลายเป็นการเบียดเบียนร่างกายของตนเอง และไม่ควรฝึกน้อยจนเกินไปกลายเป็นความเกียจคร้าน คงให้ถือปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ ความพอเหมาะและพอดีกับสภาพร่างกาย จิตใจ เพศ อายุ ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ภาระกิจอื่น ๆ และเหตุปัจจัยต่าง ๆ ในขณะนั้น.
นิสิตที่เริ่มฝึกใหม่ ๆ อาจรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกได้ไม่ค่อยชัดเจนนัก ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกนั้น จะสัมผัสเบา ๆ ที่รูจมูก. ถ้าประสงค์จะรับรู้ความรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น ก็ควรหายใจให้แรงขึ้นอีกเล็กน้อย แล้วจะรับรู้ความรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น จากนั้นจึงค่อย ๆ ผ่อนการหายใจให้กลับมาเป็นปกติ.
ขณะฝึกเจริญสมาธิ นิสิตควรพยายามฝึกให้มีสติตั้งมั่นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถหยุดความคิดของได้อย่างต่อเนื่อง. ขณะที่นิสิตสามารถหยุดความคิดไม่ให้ไปคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่นั้น จิตใจของนิสิตจะว่างจากกิเลสและกองทุกข์ เข้าถึงภาวะนิพพานเป็นการชั่วคราว.
ปัญหาที่ผู้เริ่มต้นฝึกเจริญสมาธิพบและเป็นเหตุให้มักเลิกลาไป คือ ไม่สามารถดับความคิดฟุ้งซ่านได้ดีสมกับความต้องการ. แต่อันที่จริงแล้ว ยิ่งมีความคิดฟุ้งซ่านมากเท่าไร ยิ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ให้รู้เห็นชัดเจนว่า จะต้องฝึกเจริญสมาธิต่อไป.
การเจริญสติเพื่อกำกับและควบคุมความคิด
การฝึกใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำของตนเอง ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมอยู่ตลอดเวลา(เรียกย่อ ๆ ว่า เจริญสติ) จะทำให้มีการพัฒนาความสามารถในการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามหลักธรรมได้มากขึ้น ขณะเดียวกันความทุกข์ก็จะลดลง ความสุขสงบและความบริสุทธิ์ผ่องใสทางจิตใจก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย.
ความสามารถดังกล่าว ขึ้นอยู่กับความสามารถด้านสติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำของตนเอง. ถ้านิสิตมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำไม่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถรู้เห็นและควบคุมความคิดได้ดีเท่าที่ควร จึงทำให้นิสิตมีความทุกข์หรือความคิดขาดหลักธรรมเป็นครั้งคราว ตามแต่เหตุปัจจัยในขณะนั้น.
การจะป้องกันและหยุดความคิดที่เป็นอกุศลได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นิสิตจะต้องมีเจตนา มีความตั้งใจ(มีสติ) และมีความเพียรในการฝึกฝนตนเอง ให้มีและให้ใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม(รวมทั้งหลักธรรม)ในความจำอย่างว่องไว ในการรู้เห็นการเริ่มต้นของความคิดที่มีข้อมูลด้านกิเลสเจือปน และหยุดความคิดดังกล่าวอย่างรวดเร็วที่สุด.
เมื่อนิสิตฝึกสติเช่นนี้เป็นประจำ ไม่นานนัก ก็จะสามารถรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วคล้ายอัตโนมัติ เช่นเดียวกับความสามารถต่าง ๆ ทางโลกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน.
หลักการของการฝึกเจริญสติปัญญาทางธรรม
การเจริญสติปัญญาทางธรรม(เจริญสติ)เป็นเนื้อหาสำคัญของสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ และเป็นวิธีการสำคัญมาก ๆ ที่ใช้ในการดับกิเลสและกองทุกข์ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ไม่ได้เจริญสมาธิ. คนไทยส่วนมากไม่ได้ศึกษาธรรมและไม่ได้ปฏิบัติธรรมในเรื่องสัมมาสติอย่างจริงจัง จึงทำให้ความรู้ความสามารถในการดับกิเลสและกองทุกข์มีน้อยกว่าที่ควรจะทำได้.
หลักการของการฝึกเจริญสติในที่นี้ คือ การฝึกใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม(รวมทั้งหลักธรรม)ที่มีอยู่ในความจำ ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อมูลดังกล่าว อย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องรอวัน เวลา และสถานที่.
เหตุที่ต้องฝึกเจริญสติ เพราะในชีวิตประจำวัน นิสิตจะไม่สามารถเจริญสมาธิได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นจะต้องเจริญสติในขณะทำกิจต่าง ๆ ไปด้วย เพื่อการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งการมีความปลอดภัยของชีวิต ทรัพย์สิน และการไม่มีความทุกข์ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจที่รุนแรง.
องค์ประกอบของการเจริญสติปัญญาทางธรรม
การฝึกเจริญสติปัญญาทางธรรม(เจริญสติ)เป็นกิจส่วนใหญ่ของการปฏิบัติธรรม เป็นการเจริญวิปัสสนา(เจริญสติ)เพื่อการดับกิเลสและกองทุกข์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีขั้นตอนง่าย ๆ ที่นิสิตสามารถทดลองฝึกและพิสูจน์ผลของการฝึกได้ด้วยตัวเอง. องค์ประกอบโดยย่อ ที่จะต้องตามฝึกมี ๓ องค์ประกอบ ดังนี้ :-
๑. ในชีวิตประจำวัน ให้ฝึกมีสติอยู่ที่ฐานหลักของสติอยู่เสมอ คือ มีส่วนหนึ่งของสติอยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงรูจมูกอยู่เสมอ(ไม่จำเป็นต้องทุกวินาที) และฝึกแบ่งสติจากฐานหลักของสติ หรือแบ่งความตั้งใจไปใช้ในการรู้เห็นความคิด ถ้ารู้เห็นว่ามีความคิดที่เป็นอกุศล หรือขัดแย้งกับหลักธรรม ก็ให้รีบหยุดความคิดนั้น ๆ ทันที อย่ารอแม้แต่วินาทีเดียว.
๒. ฝึกพิจารณาธรรม ด้วยการศึกษาธรรมเพิ่ม ทบทวนธรรมเรื่องอริยสัจ ๔ และพิจารณาแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจ โดยใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม ที่มีอยู่ในความจำ.
๓. ฝึกใช้สติปัญญาทางโลก และสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน
วิธีเร่งรัดการพัฒนาจิต
ขอแนะนำให้นิสิตฝึกตั้งเจตนาอยู่เสมอ หรือสอนตัวเอง หรือเตือนตัวเองตามหลักธรรมอยู่เสมอว่า "เราจะมีสติไม่คิดและไม่ทำอกุศลทั้งปวง เราจะคิดและทำแต่กุศลให้ถึงพร้อม โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ด้วยความโลภ และรักษาจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ เพื่อให้เราห่างไกลจากอกุศลและความทุกข์อยู่ตลอดเวลา" รวมทั้งมีความตั้งใจ และมีความเพียร ที่จะฝึกรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรมดังกล่าววันละหลาย ๆ ครั้ง จะทำให้นิสิตสามารถเริ่มดำเนินชีวิตตามหลักธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
ถ้าเป็นไปได้ นิสิตควรฝึกประเมินผลของการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมวันละ ๒ - ๓ ครั้ง จะช่วยเร่งรัดให้นิสิตปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมได้อย่างจริงจัง.
ทุกครั้งที่รู้ว่าคิดหรือทำอกุศล ให้ตั้งใจมีเจตนาหรือตักเตือนตนเองว่า "เราจะไม่คิดและไม่ทำเช่นนี้อีกต่อไป". ทั้งนี้ เพื่อสร้างเจตนาซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ข้อมูลเจตนาเช่นว่านี้ มีอยู่ในความจำมากขึ้น. นาน ๆ เข้า นิสิตจะมีข้อมูลเช่นนี้ในความจำของสมองมากขึ้น จนเพียงพอที่จะหยุดการคิดและการทำอกุศลได้อย่างมีประสิทธิภาพ. ในอดีตเรานิยมใช้คำว่าอธิษฐานจิต ซึ่งนั่นก็คือความเจตนานั่นเอง.
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักธรรมนี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะทรงโปรดให้สวดปาฏิโมกข์(สวดศีล ๒๒๗ ข้อ)อย่างปัจจุบันนี้แทน. ดังนั้น จึงเข้าใจว่า การมีสติปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมอย่างจริงจัง ครบถ้วน และถูกต้องตามสมควร จะสามารถพัฒนาความรู้สึกนึกคิด ความจำ รวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้สูงขึ้นจนภาวะจิตใจมีความประเสริฐในระดับต่าง ๆ (อริยบุคคล).
วิธีฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะเดินทาง ขณะฟังบรรยาย และขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ขณะดูรายการทางโทรทัศน์ นิสิตควรฝึกมีสติตั้งอยู่ที่ฐานหลักของสติไว้เสมอ(ถ้าทำได้) พร้อมกับฝึกมีสติในการใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรมอยู่เสมอ.
การมีสติอยู่ที่ฐานหลักของสติเพียงอย่างเดียว หรือมีสติอยู่ที่อิริยาบถและการเคลื่อนไหว โดยไม่ตั้งใจใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในการรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรม ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ครบสมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถป้องกันกิเลสและดับกิเลสและกองทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
การศึกษาธรรมและฝึกปฏิบัติธรรมครบตามองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ จะทำให้ความสามารถด้านสติปัญญาทางธรรมก้าวหน้าได้เร็วขึ้น.
หน้าที่ของผู้เริ่มฝึกปฏิบัติธรรม คือ จะต้องจดจำข้อมูลหลักธรรมให้ขึ้นใจ และหมั่นทบทวนเจตนาที่จะฝึกฝนตนเองวันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรู้เห็นและควบคุมความคิดอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความเคยชิน จนถึงขั้นเป็นนิสัยหรือเป็นวิถีทางในการดำเนินชีวิตตามปกติ.
การวางแผนการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งการวางแผนการชีวิตเพื่อความก้าวหน้า ย่อมสำเร็จไปได้ด้วยดี ถ้ามีสติคอยรู้เห็นและควบคุมความคิดรวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนการ และเป็นไปตามคุณธรรมที่วางไว้.
การเจริญสมาธิสลับกับการเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นสุดยอดของการปฏิบัติธรรม
ในชีวิตประจำวัน เมื่อนิสิตฝึกเจริญสติในขณะทำกิจต่าง ๆ ได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง(หรือตามความเหมาะสม) ให้สลับด้วยการฝึกเจริญสมาธิประมาณ ๓๐ - ๖๐ วินาทีหรือมากกว่า โดยไม่ต้องหลับตาก็ได้ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อที่จะป้องกันร่างกายและสมองล้า เป็นการเตรียมพร้อมที่จะศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีสติเต็มที่ในชั่วโมงถัดต่อไป.
ทุก ๆ วัน ถ้าเป็นไปได้ นิสิตควรหาโอกาสฝึกเจริญสมาธิอย่างจริงจัง เพื่อการฝึกสติอย่างเข้มข้น ด้วยการฝึกเจริญสมาธิระยะยาววันละ ๑ - ๒ ครั้ง โดยใช้เวลาครั้งละ ๑๐ - ๓๐ นาทีหรือตามความเหมาะสม จะเป็นที่บ้านหรือในที่ปลอดภัยก็ได้ เพื่อเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติในความจำ ให้มีความสามารถทางสติมากขึ้นอย่างรวดเร็ว.
การเจริญสมาธิสลับกับการเจริญสติในชีวิตประจำวัน จึงเป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นสุดยอดของการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรม เพราะสามารถทำได้ทั้งวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือกำลังทำอะไรอยู่. เมื่อฝึกฝนเป็นประจำ พอนานเข้า สมองจะมีความสามารถในการทำหน้าที่ตามที่ได้ฝึกฝนเอาไว้จนคล้ายอัตโนมัติ.
ในช่วงแรกของการฝึกปฏิบัติธรรม นิสิตควรเร่งรัดตนเองเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าไม่เร่งรัด อาจพ่ายแพ้ความคิดที่เป็นอกุศล ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เลิกลาการปฏิบัติธรรมไปได้โดยง่าย.
เมื่อฝึกอย่างจริงจังสักระยะเวลาหนึ่ง ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำจะมากขึ้น ทำให้จิตใจเบาสบาย สงบสุข และไม่ค่อยมีความทุกข์ เป็นผลให้มีศรัทธาในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังต่อไป ขณะเดียวกัน ความรู้และความสามารถในการรู้เห็นและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมก็จะมากขึ้นตามลำดับด้วย.
ความก้าวหน้าและการประเมินผล
นิสิตควรฝึกสังเกตความก้าวหน้าของตนเองเองในเรื่องการใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวันว่า ทำได้มากน้อยเพียงใด โดยสังเกตว่า มีสติอยู่ที่ฐานหลักของสติอยู่เสมอ แล้วแบ่งสติมาทำกิจต่าง ๆ รวมทั้งรู้เห็นและควบคุมความคิดในระหว่างทำกิจต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและด้านสติปัญญาทางธรรมอยู่เสมอหรือไม่ มากน้อยเพียงใด.
นิสิตควรประเมินผลความสำเร็จซึ่งเกิดจากการพิจารณาแก้ปัญหาต่าง ๆ ว่า สามารถทำให้ความทุกข์จากปัญหาต่าง ๆ ลดลง และทำให้สามารถดำเนินชีวิตตามหลักธรรม(โอวาทปาฏิโมกข์)ได้มากน้อยเพียงใด.
ถ้าการปฏิบัติธรรมของนิสิตไม่สามารถลดความทุกข์ลงได้กว่าที่ควร หรือไม่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามหลักธรรมได้ดีเท่าที่ควร ก็มักจะพบว่า มีสาเหตุมาจากการมีความเพียรน้อยไป ก็ควรพยายามที่จะเร่งความเพียรให้มากขึ้น แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่า มีสาเหตุมาจากอะไร ก็ควรปรึกษาผู้รู้ว่า การศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมของท่านที่ผ่านมาถูกทางหรือไม่ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้หมดไป.
ควรแสวงหาความรู้ในการพัฒนาจิตตลอดไป
เมื่อยังไม่ตาย ทุกคนควรศึกษาหาความรู้ไปทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป เพื่อการศึกษา ปฏิบัติงาน และดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ.
สำหรับการศึกษาหาความรู้ทางธรรม นิสิตควรศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างจริงจังต่อไปเรื่อย จนกว่าจะจบชีวิต.
อริยสัจ ๔ มีเนื้อหาน้อย พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบกับใบไม้เพียงกำมือเดียวเท่านั้นเอง แต่เมื่อนำไปปฏิบัติจะทำให้เกิดการพัฒนาจิตใจเพื่อการศึกษาและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ.
หนังสือที่มีเนื้อหาของอริยสัจ ๔ อย่างเพียงพอ ที่นิสิตควรศึกษา คือหนังสือเรื่อง พุทธธรรม เขียนโดย ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ซึ่งเป็นหนังสือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการธรรม.

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

การแนะแนวอาชีพ

การแนะแนวอาชีพ(Vocational Guidance)
โดย นายรัศมี ปาสาโก ครุศาสตร์เกษตรฯ
1.ความหมายของการแนะแนวอาชีพ

“แฟรงค์ พาร์สันส์” (Frank Parsons)บิดาแห่งการแนะแนวอาชีพให้ความหมายว่า การแนะแนวอาชีพ (Vocational Guidance) เป็นกระบวนการสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนมีงานทำโดยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ โดยมุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจในโลกของอาชีพและการทำงาน ซึ่งจะทำให้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวอย่างยั่งยืนไป การแนะแนวอาชีพจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและสามารถตัดสินใจเลือกอาชีพได้ด้วยตนเอง อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ความถนัด ความเข้าใจ ค่านิยม ของสังคม ตลอดจน สภาวะทางเศรษฐกิจ
วัชรี ทรัพย์มี 2538, ให้ความหมายของการแนะแนวอาชีพว่า การแนะแนวอาชีพ หมายถึง กระบวนการช่วยเหลือบุคคลให้เข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมให้เขามีคุณภาพเหมาะสมตามลักษณะบุคลิกภาพของตน ค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน มีทักษะการดำเนินชีวิต รู้จัก ตัดสินใจในการเลือกอาชีพ แก้ปัญหาในช่วงวิกฤติ วางแผนการประกอบอาชีพ และสามารถปรับตัวได้อย่างมีความสุขในชีวิตได้พัฒนาตนเองให้ถึงขีดสุดในด้านอาชีพ
ดังนั้นการแนะแนวอาชีพจึงเป็นกระบวนการช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้บุคคลเข้าใจในโลกของอาชีพและการทำงาน สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับการแนะแนวรู้จักคิดและตัดสินใจในการทำงานตามความเหมาะสมของบุคลิกภาพแต่ละบุคคลและตามความถนัดของตนเอง


2.หลักการสำคัญของการแนะแนว
หลักการสำคัญของการแนะแนวอาชีพ การแนะแนวอาชีพมีหลักการว่า หากบุคคลใดได้ศึกษาหรือทำงานที่ตรงกับความถนัด ความ สนใจ และอุปนิสัยใจคอแล้ว เขาย่อมมีความสุขและ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการที่ต้องปฏิบัติงานในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด หรือไม่เหมาะสมกับอุปนิสัยของตน ดังนั้นในการแนะแนวอาชีพ จึงต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญดัง ดร.วิวรรธน์ ปาณะสิทธิพันธุ์ ได้กล่าวไว้ต่อไปนี้ คือ
1) การแนะแนวอาชีพ เป็นการพัฒนาคนให้มีความสามารถ และมีโอกาสใช้ ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ในการผลิตงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และทำให้บุคคลนั้นเกิดความสุขจากความสำเร็จในการทำงาน
2) การแนะแนวอาชีพ เป็นกระบวนการต่อเนื่องโดยมีขั้นตอนตั้งแต่การช่วยบุคคลให้ :-
2.1 รู้จักตนเองว่าตนมีความถนัด มีความสนใจ มีความสามารถ บุคลิกภาพเป็นเช่นไร จะได้เลือกงานได้ถูกต้อง
2.2 รู้จักข้อมูลทางอาชีพอย่างกว้างขวางและแจ่มแจ้งว่า อาชีพต่าง ๆ มีลักษณะอย่างไร ต้องการคนที่มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง และมีทัศนคติที่ดีต่อ สัมมาชีพ
2.3 รู้จักตัดสินใจเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตน โดยพิจารณาโอกาส ความเป็นไปได้ทั้งด้านคุณสมบัติของตนเองและความต้องการด้านกำลังคนใน อาชีพนั้น ๆ
2.4 ได้มีโอกาสศึกษา ฝึกฝน อบรม หรือได้สัมผัสอาชีพนั้น ๆ ตามความเหมาะสมกับวัย เพื่อให้เกิดทักษะ ความสามารถที่จะออกไปประกอบอาชีพได้ ทันที หรือในบางกรณี เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานและเพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการประกอบอาชีพของตนในอนาคต โดยมีการศึกษาฝึกฝนเพิ่มเติม
2.5 การแนะแนวอาชีพเป็นกระบวนการที่ต้องการความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย การจัดบริการแนะแนวอาชีพในสถานศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วม มือจากบุคคลทุกฝ่าย ในสถานศึกษานั้น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความร่วมมือของชุมชนในท้องถิ่นที่สถานศึกษาหรือหน่วยงานนั้นตั้งอยู่ จึงจะ ทำให้งานแนะแนวอาชีพเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลครอบคลุมในทุกด้าน
2.6 การแนะแนวอาชีพเป็นกระบวนการที่มุ่งให้บุคคลตัดสินใจด้วยตนเอง โดยยึดหลักในเรื่องของการให้บุคคลเป็นผู้กำหนดชีวิตของตน
2.7 มีงานทำหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งจะเป็นอาชีพอิสระหรืออาชีพรับจ้างแล้วแต่กรณี
2.8 ได้รับการดูแลและติดตามผล หลังจากที่จบการศึกษาออกไป ประกอบอาชีพแล้ว ว่าบุคคลนั้น ๆ มีความสามารถเหมาะสมกับงานเพียงใด สามารถ ปรับตัวให้เข้ากับงานได้หรือไม่ ได้ทำงานตรงตามความรู้ความสามารถหรือไม่ เพียงใด ควรมีการแก้ไขหรือปรับปรุงในด้านใดบ้าง ทั้งนี้ ควรมีโครงการต่อ เนื่องในการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ระหว่างปฏิบัติงาน (In Service Training) ด้วย

3.การวิเคราะห์บุคลิกภาพกับอาชีพ
ในการแนะแนวอาชีพแต่ละครั้งนักแนะแนวหรือครูแนะแนวควรมีการวิเคราะห์บุคลิกภาพส่วนบุคคลของผู้เข้ารับการแนะแนว เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับกลุ่มอาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของผู้เข้ารับการแนะแนว ดังกรมการจัดหางานได้แบ่งตามกลุ่มบุคลิกภาพ 6 กลุ่ม ดังนี้
3.1.อาชีพ บุคลิกภาพแบบจริงจังไม่คิดฝัน-นิยมความจริง
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ จะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลัง ชอบงานกลางแจ้ง กิจกรรมที่ไม่สลับซับซ้อน กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งของ เช่น เครื่องจักรกล ขาดทักษะในการสร้างสัมพันธระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องสังคมกับบุคคลอื่นชอบเป็นจุดสนใจของผู้อื่น ค่อนข้างก้าวร้าว มีลักษณะเป็นชาย มีค่านิยมทางเศรษฐกิจและในรูปแบบที่มีระเบียบแบบแผน ยึดถือประเพณีนิยม
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความอดทน มีความบากบั่น กล้าแสดงผลงาน ขาดทักษะในการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม
ค.การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำต่ำ มีทักษะในการสื่อสารต่ำ มีสุนทรีต่ำ
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ช่างเขียนแบบทั่วไป ช่างเชื่อมโลหะ
ช่างเทคนิคเครื่องกล ช่างเทคนิคอากาศยานและเครื่องยนต์ ช่างเทคนิคอิเล็กทรอนิกส์
ช่างเขียนแบบ (สถาปัตยกรรม) ช่างซ่อมและติดตั้งวางสายไฟฟ้า ช่างเทคนิคเครื่องยนต์
ช่างปรับอิเล็กทรอนิกส์ ช่างทันตกรรม ช่างแท่นพิมพ์ออฟเซ็ท
ช่างฟิต นักกายภาพบำบัด นักบิน
เจ้าหน้าที่จราจรทางอากาศ วิศวกรการบิน วิศวกรเครื่องกล(ทั่วไป)
วิศวกรโทรคมนาคม วิศวกรอุตสาหการ ช่างซ่อมตัวถังรถยนต์
ช่างสำรวจ นักเทคโนโลยีทางการศึกษา นักอาชญาวิทยา
ผู้ประกอบอาหาร
3.2.อาชีพ บุคลิกภาพแบบที่ต้องการใช้เชาว์ปัญญา
ก. ลักษณะโดยทั่วไป
ชอบคิด สังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ชอบแก้ปัญหา ชอบใฝ่หาความรู้มีหลักการ ชอบทำงานที่สลับซับซ้อนมากกว่าเป็นผู้ลงมือทำ ไม่ยึดติดประเพณีนิยม หลีกเลี่ยงการค้า การชักชวนเข้าสังคมและการเลียนแบบ
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความเห็นรุนแรง มีความบากบั่น อุทิศเวลาให้กับงาน เก็บตัวไม่ใคร่สนใจสังคม
ค.การประเมินตนเอง
มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบเอาอย่างใคร มีความร่าเริงต่ำ
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
จักษุแพทย์ จิตแพทย์ นักเคมี
นักชีววิทยา นักฟิสิกส์ นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์
นักวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม นักเศรษฐศาสตร์ ผู้จัดโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ทันตแพทย์ นักจิตวิทยา นักเทคนิคการแพทย์
นักวิเคราะห์การตลาด นักวิจัย นักสถิติ
ผู้บริหารระบบข่าวสาร แพทย์ทั่วไป เภสัชกร สัตวแพทย์ทั่วไป
3.3.อาชีพ บุคลิกภาพแบบมีศิลปะ
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
ชอบกิจกรรมเกี่ยวกับนามธรรม เป็นอิสระ รักความงาม มีความเป็นตัวของตัวเองสูงชอบใช้ชีวิตและกิจกรรมแบบตามลำพัง ไม่ค่อยควบคุมตัวเอง มักทำตามใจที่ปรารถนา มีความต้องการแสดงออกถึงลักษณะของตนเอง ชอบทางศิลปะ ไม่ชอบเลียนแบบ มีความคิดริเริ่ม หลีกเลี่ยงงานประเภทใช้ระเบียบแบบแผน
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีสุนทรีย์ มีศิลปะ ชอบคิดคำนึงชอบครุ่นคิดคนเดียว เก็บตัว
ค.การประเมินตนเอง
มีความอิสระสูง มีความเข้าใจตนเองสูง มีความสามารถในการควบคุมตนเอง มีความสามารถในการแสดงความรู้สึก
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
นักเขียนการ์ตูน นักประชาสัมพันธ์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์
นักออกแบบฉากละคร นักออกแบบแฟชั่น ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา
ผู้สื่อข่าว มัณฑนากร นักเขียนประกาศโฆษณา
นักหนังสือพิมพ์ นักออกแบบเครื่องเฟอร์นิเจอร์ นักออกแบบเครื่องประดับ
นักออกแบบเว็บไซต์ ผู้แปลภาษาต่างประเทศ สถาปนิก
ภูมิสถาปนิก


3.4.อาชีพ บุคลิกภาพแบบที่ชอบสมาคมสังคมกับบุคคลอื่น
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
ชอบติดต่อกับคน ชอบสนทนา ชอบให้ความรู้สอนผู้อื่น ชอบแสดงตัว ร่าเริง มีความรับผิดชอบ มีทักษะทางภาษา ต้องการความสนใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีลักษณะเป็นหญิง หลีกเลี่ยงการใช้ความคิดทางปัญญา มักแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความรู้สึก หลีกเลี่ยงงานที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ หรือทางวิทยาศาสตร์
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
ชอบสมาคม ร่าเริง ชอบเที่ยว รักษาประเพณี มีความรับผิดชอบ มีอำนาจ มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น มีลักษณะท่าทางเป็นหญิง
ค.การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำสูง มีทักษะในการพูด ชอบสมาคม
ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ช่างเสริมสวย
นักแนะแนว ผู้จัดการโรงแรม พนักงานต้อนรับ
เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ นักจัดรายการวิทยุ นักสังคมสงเคราะห์
พยาบาล โภชนาการ
3.5.อาชีพ บุคลิกภาพแบบกล้าคิดกล้าทำ
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
จะมีลักษณะของความเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่ม มีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าโต้แย้ง กล้าได้กล้าเสีย พร้อมที่จะทดลอง มีความเป็นอิสระ มีความสนใจอำนาจ มีความก้าวร้าวทางวาจา มีทักษะในการเจรจา มักหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่ต้องใช้กำลังทางปัญญาอันยาวนาน ไม่ชอบกิจกรรมที่เป็นระเบียบแบบแผน

ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
กล้าคิดกล้าทำ ชอบวางแผน ชอบสมาคม มีอำนาจเหนือผู้อื่น ร่าเริง สนุกสนาน ทำตามอารมณ์ ไม่ชอบใช้กำลังความคิดอันยาวนาน
ค.การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำ ชอบการสมาคม มีความก้าวร้าว มีความเข้าใจตนเอง

ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
ทนายความ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล พนักงานขาย
มัคคุเทศก์ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย ผู้พิพากษา
พิธีกร พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
3.6.อาชีพ บุคลิกภาพที่ทำตามระเบียบแบบแผน
ก.ลักษณะโดยทั่วไป
ชอบกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมและกิจกรรมทางภาษา ยึดประเพณี ชอบทำตามระเบียบแบบแผนมากกว่าการริเริ่มด้วยตนเอง เป็นพวกวัตถุนิยม และเจ้าระเบียบ ไม่ยืดหยุ่น ชอบการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ชอบเลียนแบบ เป็นผู้ตาม
ข.ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความรับผิดชอบ กล้าแสดงผลงาน ชอบพึ่งพาอาศัยผู้อื่น รักษาระเบียบ ประเพณี
ค.การประเมินตนเอง
มีจิตใจที่จะทำอะไรก็ทำจริง เคร่งครัดในระเบียบแบบแผน


ง.อาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ
ผู้นำเข้าหรือส่งออก เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ ผู้ตรวจสอบบัญชี
พนักงานพิมพ์ดีดคอมพิวเตอร์ เลขานุการ พนักงานบัญชี
ผู้ดูแลคลังสินค้า ผู้ประเมินทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
สมุห์บัญชี
4.ประโยชน์ของการแนะแนวอาชีพ
1. รู้จักเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับความสามารถของตน เช่น ความถนัด ความสามารถ ความสนใจ บุคลิกภาพ ความต้องการของตนเอง เป็นต้น
2. ให้รู้จักโลกของงานอาชีพ เช่น อาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชนนั้น ๆ ลักษณะงานของอาชีพ คุณสมบัติของบุคคลที่จะประกอบอาชีพ หรืองานย่อยในอาชีพ ต่าง ๆ ความก้าวหน้า รายได้ ความมั่นคง การฝึกอบรมที่จะเข้าสู่อาชีพต่าง ๆ
3. ให้รู้จักเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพ เช่น การเข้ารับการอบรมในอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในอาชีพนั้น ๆ เช่น การซ่อมคอมพิวเตอร์ การแสวงหางาน การสมัครงาน การเข้ารับการสัมภาษณ์ เป็นต้น
สรุป ดังนั้นการแนะแนวอาชีพจึงเป็นกระบวนการช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้บุคคลเข้าใจในโลกของอาชีพและการทำงาน สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับการแนะแนวรู้จักคิดและตัดสินใจในการทำงานตามความเหมาะสมของบุคลิกภาพแต่ละบุคคลและตามความถนัดของตนเอง โดยยึดหลักในการแนะแนวอาชีพดังนี้ คือ
1.การวิเคราะห์บุคคล นักแนะแนวจะช่วยผู้มารับบริการวิเคราะห์คุณสมบัติต่างๆ เช่น ความสามารถ ความสนใจ ความถนัด บุคลิกภาพ
2.การวิเคราะห์อาชีพ นักแนะแนวจะช่วยให้ผู้รับบริการมีความรู้เกี่ยวกับอาชีพ เช่น มีความรู้เกี่ยวกับลักษณะอาชีพ ความต้องการของตลาดเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ เวลาและทุนทรัพย์ที่ใช้ในการเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพ
3.การใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกอาชีพ นักแนะแนวช่วยให้ผู้รับบริการตัดสินใจเลือกอาชีพ โดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ตนเองและวิเคราะห์อาชีพประกอบกัน

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ระบบการบริหารราชการ

ระบบการบริหารราชการส่วนกลาง
การบริหารราชการส่วนกลาง หมายถึง หน่วยราชการจัดดำเนินการและบริหารโดยราชการของ ส่วนกลางที่มีอำนาจในการบริหารเพื่อสนองความต้องการของประชาชน จะมีลักษณะการปกครองแบบรวมอำนาจ หรือมีความหมายว่า เป็นการรวมอำนาจในการสั่งการ การกำหนดนโยบายการวางแผน การควบคุมตรวจสอบ และการบริหารราชการสำคัญ ๆ ไว้ที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตามหลักการรวมอำนาจ การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง จัดแบ่งออกได้ดังนี้
1. สำนักนายกรัฐมนตรี
2. กระทรวง หรือทบวงที่มีฐานะเทียบเท่า กระทรวง
3. ทบวง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง
4. กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง
การจัดตั้ง ยุบ ยกเลิก หน่วยงาน ตามข้อ 1- 4 ดังกล่าวนี้ จะออกกฎหมายเป็น พระราชบัญญัติและมีฐานะเป็นนิติบุคคล
ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้จัดแบ่ง กระทรวง และส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง รวม 20 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธรณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม
สำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นกระทรวง อยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นเครื่องของนายกรัฐมนตรีในเรื่องที่เป็นหัวใจของการบิหารราชการหรือเกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กิจการเกี่ยวกับการทำงบประมาณแผ่นดินและราชการอื่น ตามที่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือส่วนราชการอื่น ๆ ซึ่งมิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งโดยเฉพาะ
สำนักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของสำนักนายกรัฐมนตรีให้สอดคล้องกันนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี และจะให้มีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหรือทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติก็ได้
กระทรวง หมายถึง ส่วนราชการที่แบ่งออกเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่สุด รับผิดชอบงานที่กำหนดในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผน กำกับ เร่งรัด และติดตามนโยบาย และแผนการปฏิบัติราชการกระทรวง จะจัดระเบียบบริหารราชการโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีสำนักนโยบายและแผนเป็นส่วนราชการภายในขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
กระทรวงหนึ่งๆมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออออนุมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้ ให้มีปลัดกระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมราชการประจะในกระทรวง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการประจำในกระทรวงจากรับมนตรี โดยมีรองปลัดกระทรวงหรือผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งการและปฏิบัติราชการแทน การจัดระเบียบราชการของกระทรวง ดังนี้
(1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น เว้นแต่บางทบวงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกรมก็ได้
ทบวง เป็นหน่วยงานที่เล็กกว่ากระทรวง แต่ใหญ่กว่า กรม ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 25 ว่า ราชการส่วนใดซึ่งโดยสภาพและปริมาณของงานไม่เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นกระทรวงหรือทบวง ซึ่งเทียบเท่ากระทรวงจะจัดตั้งเป็นทบวงสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวงเพื่อให้มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงและมีปลัดทบวง ซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของทบวงก็ได้และมีอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม การจัดระเบียบราชการในทบวง มีดังนี้
(1) สำนักเลขานุการรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดทบวง
(3) กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้ส่วนราชการตาม (2) (3) มีฐานะเป็น กรม
กรม หมายถึง เป็นส่วนราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงหรืออาจเป็นส่วนราชการอิสระไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงอยู่ใต้การบังคับบัญชา ของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการทรวงคนใดคนหนึ่งให้แบ่งส่วนราชการดังนี้
(1) สำนักงานเลขานุการกรม
(2) กองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง เว้นแต่บางกรมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกองก็ได้
กรมใดมีความจำเป็น จะแบ่งส่วนราชการโดยให้มีส่วนราชการอื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ก็ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา กรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวง หรือทบวงหรือทบวงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมหรือตามกฏหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกรมนั้น
กรมมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ให้เป็นไปตามนโยบายแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง และในกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดอำนาจหน้าที่ของอธิบดีไว้เป็นการเฉพาะ การอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวให้คำนึงถึงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง
ปัจจุบันมีส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงหรือทบวง มี 9 ส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม คือ สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
การปฏิบัติราชการแทน อำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการใดที่ผู้ดำดงตำแหน่งใดพึงปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ปฏิบัติราชการแทนได้ดังตัวอย่าง
1. นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้รับมอบจะมอบต่อไปไม่ได้เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบต่อในจังหวัด อำเภอก็ได้
การรักษาราชการแทน ผู้ที่ได้รับอำนาจจะมีอำนาจเต็มตามกฎหมายทุกประการ ตัวอย่าง
1.นายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการไม่ได้ให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรักษาราชการแทน
2. ไม่มีปลัดกระทรวงหรือมี แต่มาปฏิบัติราชการไม่ได้ ให้รองปลัดฯ ข้าราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีรักษาราชการแทน
3. ไม่มีอธิบดีหรือมีแต่มาปฏิบัติราชการไม่ได้ ให้รองอธิบดี ผู้อำนวยการกองรักษาราชการแทน เป็นต้น